เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9881
วันที่: 4 พฤศจิกายน 2547
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการรับขนส่งสินค้า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81(1)(ณ)
ข้อหารือ: บริษัท ก. เป็นบริษัทในเครือประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ (logistics) ได้แก่ การรับกระจาย
สินค้าให้ถึงจุดหมายอย่างมีประสิทธิภาพ (ทันเวลาโดยมีต้นทุนต่ำที่สุด) ซึ่งกิจกรรมที่ทำได้แก่การรับขนส่ง
สินค้าภายในประเทศซึ่งสร้างรายได้ให้บริษัท ก. ประมาณ 90% ของรายได้ทั้งหมด นอกจากนั้นบริษัท
ก. มีรายได้จากการให้บริการอื่น ๆ เช่น การรับบริหารคลังสินค้า ฯลฯ ในบริเวณท่าเรือของบุคคลอื่น
โดยบริษัท ก. มิได้เป็นผู้ประกอบกิจการท่าเรือ
บริษัท ก. มีปัญหาเกี่ยวกับการตีความการให้บริการขนส่งของบริษัท ก. กล่าวคือ กรณีที่ลูกค้า
เป็นผู้ส่งออกสินค้าได้ว่าจ้างบริษัท ก. ให้ขนส่งสินค้าจากโรงงานของลูกค้าไปยังเรือเดินสมุทรที่จอดอยู่
กลางทะเล ซึ่งบริษัท ก. จะดำเนินการขนส่งสินค้าทั้งทางบกและทางน้ำโดยว่าจ้างช่วงบุคคลอื่นเป็น
ผู้ดำเนินการ แบ่งช่วงการขนส่งดังนี้
ช่วงที่ 1 ขนส่งสินค้าจากโรงงานของเจ้าของสินค้าไปยังท่าเรือฉลอมโดยรถ
ช่วงที่ 2 ขนส่งสินค้าจากท่าเรือฉลอมไปยังเรือเดินสมุทรซึ่งจอดอยู่กลางทะเลโดยเรือฉลอม
(ระยะทางขนส่งสินค้าช่วงที่ 2 ประมาณ 200 - 240 กิโลเมตรซึ่งมากกว่าช่วงที่ 1 ประมาณ 3 เท่า)
บริษัท ก. มีความเห็นว่า การขนส่งช่วงที่ 2 โดยการให้บริการขนส่งสินค้าจากท่าเรือฉลอม
ไปยังเรือเดินสมุทรที่จอดอยู่กลางทะเล มิได้ถูกระบุว่าเป็นการให้บริการของกิจการท่าเรือ หรือกิจการที่
เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับกิจการท่าเรือตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 ฯลงวันที่ 13 มิถุนายน
พ.ศ. 2544 ดังนั้น การให้บริการขนส่งสินค้าช่วงที่ 2 จากท่าเรือฉลอมไปยังเรือเดินสมุทรที่จอดอยู่
กลางทะเลซึ่งมีระยะทางไกลกว่าขนส่งสินค้าช่วงแรกอย่างมากประมาณ 200 –240 กิโลเมตร และใช้
เวลาขนส่งประมาณ 50 ชั่วโมง จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรที่ได้รับ
ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ตามแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่
กค 0811/พ.05399 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2542 จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาทบทวนกรณีดังกล่าว
ด้วย
แนววินิจฉัย: 1. กรณีการขนส่งช่วงที่ 1 บริษัท ก. ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งสินค้านอกบริเวณท่าเรือโดย
รถยนต์กับลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออกจากโรงงานของลูกค้าไปยังท่าเรือฉลอม โดยไม่ได้ให้บริการอื่นใดอีก แต่
บริษัท ก. ไม่ได้ดำเนินการเอง โดยบริษัท ก. ได้ทำสัญญาจ้างช่วงบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการขนส่ง
ดำเนินการแทน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตาม
มาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีการขนส่งช่วงที่ 2 บริษัท ก. ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งสินค้ากับลูกค้าที่เป็นผู้ส่งออก
จากท่าเรือฉลอมไปยังเรือเดินสมุทร แต่บริษัท ก. ไม่ได้ดำเนินการเอง โดยบริษัท ก.ได้ทำสัญญาจ้าง
ช่วงบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการขนส่งรับขนส่งสินค้า โดยใช้เรือฉลอมขนส่งสินค้าจากท่าเรือฉลอมไปยัง
เรือเดินสมุทรที่จอดอยู่กลางทะเลมีระยะทางขนส่งประมาณ 200 - 240 กิโลเมตร เข้าลักษณะเป็นการ
ให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33198

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020