เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./11233 |
วันที่ | : 21 ธันวาคม 2547 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากร |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(14)(ก) |
ข้อหารือ | : บริษัท อิน จำกัด ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากร และกำลังดำเนินการ สร้างโรงงานโดยได้ทำสัญญากับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงงานตาม แบบแปลนที่ได้รับอนุมัติบนที่ดินของบริษัทฯ ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้จัดซื้อ วัสดุก่อสร้างเพื่อให้ได้ตามราคาที่เสนอไว้ แต่บริษัทฯ มีสิทธิที่จะจัดหาวัสดุก่อสร้างในส่วนที่บริษัทฯ เห็นว่าสามารถจัดซื้อได้ถูกกว่า และบริษัทฯ ได้จ้างที่ปรึกษาการก่อสร้างเป็นผู้ดูแลปริมาณวัสดุและคุณภาพ ในการก่อสร้างโดยกำหนดให้มีการจัดทำรายงาน (BQ-Bill of Quantity) เพื่อคำนวณปริมาณวัสดุที่ ใช้ในการชำระเงินตามแต่ละงวดงาน สำหรับการนำวัสดุก่อสร้างเข้าในเขตปลอดอากร ได้ดำเนิน พิธีการศุลกากร โดยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ส่ง และบริษัทฯ เป็นผู้รับในเขตปลอดอากร ทั้งนี้ ค่าบริการและค่าแรงงานการก่อสร้างโรงงานจะผันแปรตามมูลค่าของวัสดุและปริมาณงาน บริษัทฯ หารือว่า 1. วัสดุก่อสร้างที่ผู้รับเหมาก่อสร้างนำเข้าในเขตปลอดอากรซึ่งได้ดำเนินพิธีการศุลกากร จะ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ 2. ภาษีซื้อในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้าง สำหรับกรณีนี้เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตาม มาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ 3. ค่าแรงงานเหมาในการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งกระทำในเขตปลอดอากรจะได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ 4. ค่าบริการรับเหมาก่อสร้าง โดยรวมถึงการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการรับเหมา ก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากร จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : 1. กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทกิจการรับเหมาก่อสร้าง ได้นำวัสดุ ก่อสร้างเฉพาะที่ต้องเสียอากรขาออก หรือได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เข้าไป ในเขตปลอดอากร โดยการนำเข้าได้ดำเนินการตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามกฎหมาย ว่าด้วยศุลกากร ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2545 โดยผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากร เข้าลักษณะเป็น การส่งออก ตามมาตรา 77/1(14)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับเหมาก่อสร้างได้รับสิทธิเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีซื้อที่ผู้รับเหมาก่อสร้างจ่ายไปในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง เข้าลักษณะเป็น ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงไม่ต้องห้ามนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีผู้รับเหมาก่อสร้าง ได้ตกลงทำสัญญารับเหมาก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากร โดย ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้าง เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่ง ประมวลรัษฎากร ผู้รับเหมาก่อสร้างจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการ ให้บริการในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 79 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทฯ ผู้ว่าจ้าง ตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ การ ให้บริการรับเหมาก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในเขตปลอดอากร เพื่อใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออก เพราะการให้บริการรับเหมาก่อสร้างโรงงานในเขตปลอดอากรมิได้กระทำ ต่อตัวสินค้าและมีการส่งออกสินค้านั้น หรือการให้บริการมิได้ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่างเพื่อผู้รับบริการใน เขตปลอดอากรนำไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกแต่อย่างใด ตามข้อ 2(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2543 และการรับเหมาก่อสร้าง โรงงานในเขตปลอดอากรที่ผู้รับเหมาก่อสร้างเป็นผู้นำเข้าวัสดุก่อสร้างเข้าไปในเขตปลอดอากร ผู้รับเหมาก่อสร้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าของค่าจ้างรวมค่าวัสดุก่อสร้างทั้งหมดที่ใช้ใน การรับเหมาก่อสร้างนั้น |
เลขตู้ | : 67/33235 |