เมนูปิด

 

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11375
วันที่: 24 ธันวาคม 2547
เรื่อง: ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนตัวการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 91/1(4), มาตรา 91/2(6)
ข้อหารือ: 1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด A เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 84838 ได้มาเมื่อวันที่ 25
กุมภาพันธ์ 2540 ต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาว ก (ผู้ซื้อ) เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม
2540 จดทะเบียนโอนประเภท “ขาย” และหนังสือสัญญาขายที่ดินลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2540 ระบุว่า
ขายที่ดินแก่ผู้ซื้อราคา 69,482,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว
เป็นการขายที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ซื้อไว้เพื่ออยู่อาศัยและทำสวน” เจ้าพนักงานกำหนดราคาประเมิน
ทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฯ 124,075,000 บาท
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด B เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 956 ได้มาเมื่อวันที่ 28 มกราคม
2540 ต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่นางสาว ก (ผู้ซื้อ) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2540
จดทะเบียนโอนประเภท “ขาย” และหนังสือสัญญาขายที่ดินลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 ระบุว่า “ขาย
ที่ดินแก่ผู้ซื้อราคา 4,500,000 บาท ผู้ซื้อได้ชำระและผู้ขายได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว ไม่มี
สิ่งปลูกสร้าง ซื้อเพื่ออยู่อาศัย” เจ้าพนักงานกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมฯ
5,856,200 บาท
3 จากการตรวจสอบข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษี
กรกฎาคม 2540 ปรากฏว่าห้างฯ ทั้ง 2 ไม่ได้นำรายรับจากการขายที่ดินให้แก่นางสาวก ไปเสีย
ภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ เห็นว่าห้างฯ ทั้ง 2 มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจาก
การขายที่ดินดังกล่าว แต่นาย ข หุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯทั้ง 2 โต้แย้งว่า คู่สัญญาไม่มีเจตนาให้มีผลเป็น
การซื้อขายหากแต่มีเจตนาให้นางสาวก ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนห้างฯ ทั้ง 2 ห้างฯ ทั้ง 2 ได้เป็นโจทก์
ฟ้องนางสาว ก ต่อศาลแพ่ง ขอให้บังคับนางสาว ก เปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 84838 และเลขที่
956 กลับเป็นชื่อของห้างฯ ทั้ง 2 ซึ่งศาลได้พิพากษาแล้ว โดยมีสาระสำคัญว่า นางสาว ก (จำเลย)
ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทางพิจารณาโจทก์นำสืบนาย ข หุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ ทั้ง 2
เบิกความฝ่ายเดียวศาลเห็นว่าโฉนดที่ดินเลขที่ 84838 และเลขที่ 956 เดิมห้างฯ ทั้ง 2 เป็น
ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2540 ห้างฯ ทั้ง 2 จดทะเบียนโอนที่ดินทั้ง 2 โฉนดให้แก่
นางสาว ก ก่อนที่ห้างฯ ทั้ง 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว นางสาว ก ทำหนังสือให้แก่ นาย ข
หุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ ทั้ง 2 หากนาย ข ต้องการที่ดินคืนเมื่อใด นางสาว ก ยอมโอนคืนให้ น่าเชื่อว่า
ห้างฯ ทั้ง 2 โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่นางสาว ก ก็เพื่อมีเจตนาให้นางสาว ก ถือ
กรรมสิทธิ์แทนห้างฯ ทั้ง 2 เมื่อนางสาว ก ไม่คืนทรัพย์สินดังกล่าว ห้างฯ ทั้ง 2 มีสิทธิติดตามเอาคืนได้
พิพากษาให้นางสาว ก จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดิน เลขที่ 84838 และเลขที่ 956 กลับเป็นชื่อ
ของห้างฯ หากนางสาว ก ไม่ยอมจดทะเบียนโอนเปลี่ยนชื่อให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแทน
เจตนาของนางสาว ก
4. นางสาว ก จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 84838 คืนห้างหุ้นส่วนจำกัด A
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 จดทะเบียนโอนประเภท “โอนให้ตัวการ ตามคำพิพากษาศาลแพ่งคดี
หมายเลขดำที่ C และคดีหมายเลขแดงที่ D ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2542” และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์
ที่ดินโฉนดเลขที่ 956 คืนห้างหุ้นส่วนจำกัด B เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2542 จดทะเบียนโอนประเภท “
โอนตามคำสั่งศาล ตามคำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ E ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2542”
5. สำนักงานสรรพากรภาคเห็นว่า การที่ห้างฯ ทั้ง 2 โอนที่ดินโฉนดเลขที่ 84838 และ
เลขที่ 956 ให้แก่นางสาว ก ไม่ถือเป็นการขายตามมาตรา 91/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ
ทั้ง 2 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
แนววินิจฉัย: กรณีห้างฯ ทั้ง 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 84838 และเลขที่ 956 ให้แก่นางสาว ก
เป็นกรณีปรากฏหลักฐานชัดแจ้งตามคำพิพากษาศาลแพ่งว่า นางสาว ก ตัวแทนถือกรรมสิทธิ์ที่ดินแทนห้างฯ
ทั้ง 2 ตัวการ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อตัวการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ตัวแทนโดยไม่ได้
รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการตอบแทน การโอนดังกล่าวไม่ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 91/1(4)
แห่งประมวลรัษฎากร ผู้โอนจึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2(6) แห่ง
ประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 67/33250


 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020