เมนูปิด

คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ที่ 21/2533
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


---------------------------------------


                ด้วยกรมสรรพากรได้ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยว่า กรณีที่บทบัญญัติมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 201) พ.ศ. 2532 บัญญัติว่า


                “ มาตรา 3 ผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2532 เป็นต้นไป และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ” นั้น


                เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ หากผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่ว่าบริษัทเดียวหรือหลายบริษัท ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปีภาษีนั้น และนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น โดยนำภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มาเครดิตกับภาษีเงินได้ที่ต้องเสีย และได้เสียภาษีเงินได้ไว้แล้วภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษีนั้นใหม่ โดยไม่นำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทดังกล่าวทั้งหมด ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นนั้น ดังนี้ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


                คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและได้มีคำวินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ 24/2533 วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ว่า เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยได้รับจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามบทบัญญัติตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 201) พ.ศ. 2532 นั้น เป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยมีเงื่อนไขว่า เงินได้ดังกล่าวต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือผู้มีเงินได้ต้องยอมให้ผู้จ่ายหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้และเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น ผู้มีเงินได้จะต้องไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ก็โดยมีเจตนารมย์ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้มีเงินได้ดังกล่าวที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ดังกล่าวสูงกว่าจำนวนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่ผู้มีเงินได้พิจารณาเห็นว่า มีภาระภาษีที่จะต้องเสียสำหรับปีภาษีนั้นน้อยกว่าจำนวนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ผู้มีเงินได้ก็มีสิทธินำเงินได้ดังกล่าวทั้งหมดไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นเพื่อขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือเพื่อขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นได้ นอกจากนั้นการใช้สิทธิเพื่อให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในกรณีดังกล่าว ก็ไม่มีกฎหมายกำหนดเวลาการใช้สิทธิหรือห้ามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิไว้ และการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิดังกล่าวก็เป็นการปฏิบัติทำนองเดียวกับกรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไปผู้มีเงินได้ก็สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมให้ถูกต้องโดยการชำระภาษีเพิ่มเติมหรือขอภาษีคืนแล้วแต่กรณีได้อยู่แล้วดังนั้น กรณีที่ผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้น โดยนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นอันทำให้ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าการไม่นำเงินได้ดังกล่าว ไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นนั้น จึงเป็นการกระทำโดยสำคัญผิด เมื่อผู้มีเงินได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นใหม่ โดยไม่นำเงินได้ดังกล่าวทั้งหมดไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น จึงเป็นกรณีที่ผู้มีเงินได้สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์ที่จะพึงได้แต่อย่างใด


                คำวินิจฉัยนี้ไม่ใช้บังคับสำหรับกรณีที่กรมสรรพากรได้วินิจฉัยสั่งการไปแล้ว

 

 

สั่ง ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2533

 

 

พนัส สิมะเสถียร
ปลัดกระทรวงการคลัง
ประธานคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022