เมนูปิด

ความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับ

รัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร

ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้


รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมเวียดนาม

 

                 มีความปรารถนาที่จะทำความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาษีเก็บจากเงินได้

 

                 ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

 

 

 

ข้อ 1

ขอบข่ายด้านบุคคล

 

                 ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือทั้งสองรัฐ

 

 

 

ข้อ 2

ภาษีที่อยู่ในขอบข่าย

 

1.             ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีจากเงินได้ที่บังคับจัดเก็บในนามของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งหรือของส่วนราชการหรือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของรัฐนั้นโดยไม่คำนึงถึงวิธีการเรียกเก็บ

 

2.             ภาษีทั้งปวงที่บังคับจัดเก็บจากเงินได้ทั้งสิ้น หรือจากองค์ประกอบทั้งหลายของเงินได้ รวมทั้งภาษีที่จัดเก็บจากผลได้จากการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ ภาษีที่เก็บจากยอดเงินค่าจ้างหรือเงินเดือนซึ่งวิสาหกิจเป็นผู้จ่าย ตลอดจนภาษีที่เก็บจากการเพิ่มค่าของทุน

 

3.             ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งความตกลงที่จะใช้บังคับ ได้แก่

 

                 (ก)          กรณีในประเทศไทย

 

                                 (1)          ภาษีเงินได้

 

                                 (2)          ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีไทย")

 

                 (ข)          กรณีในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

 

                                 (1)          ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

                                 (2)          ภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

                                 (3)          ภาษีเก็บจากการจำหน่ายเงินกำไร

 

                                 (4)          ภาษีเงินได้นิติบุคคลเก็บจากผู้รับเหมาต่างประเทศ และ

 

                                 (5)          ภาษีปิโตรเลียมเก็บจากผู้รับช่วงสัญญาต่างประเทศ

 

                               (ต่อไปในที่นี้จะเรียกว่า "ภาษีเวียดนาม")

 

4.             ความตกลงนี้ให้ใช้บังคับแก่ภาษีใดๆ ที่มีลักษณะเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันในสาระสำคัญซึ่งบังคับจัดเก็บเพิ่มเติมหรือแทนที่ภาษีที่มีอยู่ในปัจจุบันภายหลังจากวันที่ได้ลงนามในความตกลงนี้ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐจะแจ้งแก่กันเพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญซึ่งได้มีขึ้นในกฎหมายภาษีอากรของแต่ละรัฐ

 

 

ข้อ 3

บทนิยามทั่วไป

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

                 (ก)          คำว่า "ประเทศไทย" หมายถึงราชอาณาจักรไทย และรวมถึงพื้นที่ใดๆ ซึ่งติดกับน่านน้ำอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย ซึ่งตกอยู่ภายใต้สิทธิของราชอาณาจักรไทยตามกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศ

 

                 (ข)          คำว่า "เวียดนาม" หมายถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อใช้ในความหมายทางภูมิศาสตร์ ให้หมายความถึงอาณาเขตทั้งปวงของชาติ รวมถึงทะเลอาณาเขต และพื้นที่ใดๆ ภายใต้ทะเลอาณาเขต ซึ่งตามกฎหมายเวียดนามและตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้เวียดนามมีอธิปไตยสำหรับการสำรวจ และการใช้ทรัพยากรแห่งพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินและแหล่งทรัพยากรในพื้นน้ำที่ติดต่อกันนั้น

 

                 (ค)          คำว่า "รัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "รัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง ประเทศไทยหรือเวียดนามแล้วแต่บริบทจะกำหนด

 

                 (ง)          คำว่า "บุคคล" รวมถึงบุคคลธรรมดา บริษัท คณะบุคคลใดๆ ตลอดจนหน่วยใดๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยภาษีภายใต้กฎหมาย ภาษีที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐใดรัฐหนึ่ง

 

                 (จ)          คำว่า "บริษัท" หมายถึงนิติบุคคลใดๆ หรือหน่วยใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นนิติบุคคลเพื่อความมุ่งประสงค์ในทางภาษี

 

                 (ฉ)          คำว่า "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" และ "วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง" หมายถึง วิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง และวิสาหกิจที่ดำเนินการโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งตามลำดับ

 

                 (ช)          คำว่า "คนชาติ" หมายถึง

 

                                 (1)          บุคคลธรรมดาใดๆ ซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                                 (2)          นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วน สมาคม และหน่วยอื่นใดที่ได้รับสถานภาพเช่นว่านั้นตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง

 

                 (ซ)          คำว่า "การจราจรระหว่างประเทศ" หมายถึง การขนส่งใดๆ ทางเรือหรือทางอากาศยานซึ่งดำเนินการโดยวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง ยกเว้นกรณีการเดินเรือหรือเดินอากาศยานระหว่างสถานที่ต่างๆ ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเท่านั้น และ

 

                 (ฌ)         คำว่า "เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ" ในกรณีของประเทศไทย หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย และในกรณีของเวียดนาม หมายถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย

 

2.             ในการใช้บังคับความตกลงนี้โดยรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง คำใดๆ ที่มิได้นิยามไว้ในความตกลงนี้ให้มีความหมายซึ่งคำนั้นมีอยู่ตามกฎหมายของรัฐนั้นเกี่ยวกับภาษีซึ่งความตกลงนี้ใช้บังคับ เว้นแต่บริบทจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

 

 

ข้อ 4

ผู้มีถิ่นที่อยู่

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์แห่งความตกลงนี้ คำว่า "ผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่ง" หมายถึงบุคคลใดๆ ผู้ซึ่งตามกฎหมายของรัฐนั้นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นโดยเหตุผลแห่งการมีภูมิลำเนา ถิ่นที่อยู่ สถานจดทะเบียนบริษัท สถานจัดการหรือโดยเกณฑ์อื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่คำนี้มิให้รวมถึงบุคคลใดผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในรัฐนั้นด้วยเหตุเฉพาะการมีเงินได้จากแหล่งในรัฐนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

 

2.             ในกรณีที่โดยเหตุผลแห่งบทบัญญัติของวรรค 1 บุคคลธรรมดาผู้หนึ่ง เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐ ให้กำหนดสถานภาพของบุคคลดังกล่าวต่อไปนี้

 

                 (ก)          ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในรัฐนั้น ถ้าบุคคลนั้นมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐซึ่งบุคคลนั้นมีความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่า (ศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญ)

 

                 (ข)          ถ้าไม่อาจกำหนดรัฐผู้ทำสัญญาซึ่งบุคคลนั้นมีศูนย์กลางของผลประโยชน์อันสำคัญได้ หรือถ้าบุคคลธรรมดานั้นไม่มีที่อยู่ถาวรในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งรัฐใด ให้ถือว่าบุคคลธรรมดานั้น เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่บุคคลนั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัย

 

                 (ค)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นมีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐหรือไม่มีที่อยู่เป็นปกติวิสัยในทั้งสองรัฐ ให้ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐที่บุคคลนั้นเป็นคนชาติ

 

                 (ง)          ถ้าบุคคลธรรมดานั้นเป็นคนชาติของทั้งสองรัฐหรือมิได้เป็นคนชาติของทั้งสองรัฐ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสองรัฐแก้ไขปัญหาโดยความตกลงร่วมกัน

3.             ในกรณีตามเหตุผลแห่งบทบัญญัติตามวรรค 1 บุคคลนอกเหนือจากบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ของรัฐผู้ทำสัญญาทั้งสอง ให้ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่จดทะเบียนก่อตั้งขึ้น

 

 

ข้อ 5

สถานประกอบการถาวร

 

1.             เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ คำว่า "สถานประกอบการถาวร" หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

 

2.             คำว่า "สถานประกอบการถาวร" โดยเฉพาะรวมถึง

 

                 (ก)          สถานจัดการ

 

                 (ข)          สาขา

 

                 (ค)          สำนักงาน

 

                 (ง)          โรงงาน

 

                 (ฉ)          โรงช่าง

 

                 (ช)          เหมืองแร่ บ่อน้ำมันหรือบ่อก๊าซ บ่อ หรือสถานที่อื่นใดที่ใช้ในการขุดทรัพยากรธรรมชาติ

 

                 (ซ)          ที่ตั้งอาคาร โครงการก่อสร้าง โครงการติดตั้งหรือโครงการประกอบ หรือกิจกรรมตรวจควบคุมเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งที่ตั้ง โครงการ หรือกิจการเช่นว่านั้นดำเนินติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือน

 

3.             แม้จะมีบทบัญญัติก่อนของข้อนี้อยู่ คำว่า "สถานประกอบการ" ให้ถือไม่รวมถึง

 

                 (ก)          การใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา การจัดแสดงหรือส่งมอบสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจนั้น

 

                 (ข)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการเก็บรักษา จัดแสดงหรือส่งมอบ

 

                 (ค)          การเก็บรักษามูลภัณฑ์ของสิ่งของหรือสินค้าซึ่งเป็นของวิสาหกิจเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ให้วิสาหกิจอื่นใช้ในการแปรสภาพ

 

                 (ง)          การมีสถานธุรกิจประจำเพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการจัดซื้อสิ่งของหรือสินค้า หรือรวบรวมข้อสนเทศเพื่อวิสาหกิจนั้น

 

                 (จ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อความมุ่งประสงค์ในการโฆษณา การให้ข้อสนเทศ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ หรือเพื่อกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือเป็นส่วนประกอบให้แก่วิสาหกิจนั้น

 

                 (ฉ)          การมีสถานธุรกิจประจำไว้เพียงเพื่อประกอบกิจกรรมที่กล่าวถึงในอนุวรรค (ก) ถึง (จ) โดยมีเงื่อนไขว่า กิจกรรมทั้งมวลของสถานธุรกิจประจำเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมดังกล่าวอันมีลักษณะเป็นการเตรียมการหรือส่วนประกอบ

 

4.             แม้จะมีบทบัญญัติของวรรค 1 และ 2 เมื่อบุคคลนอกเหนือจากตัวแทนที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค 5 กระทำการในนามของวิสาหกิจ และมีและใช้อย่างเป็นปกติวิสัยในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งซึ่งอำนาจในการทำสัญญาในนามของวิสาหกิจนั้น ให้ถือว่าวิสาหกิจนั้นมีสถานประกอบการถาวรในรัฐนั้น ซึ่งบุคคลนั้นได้ประกอบกิจการเพื่อวิสาหกิจดังกล่าว เว้นแต่กิจกรรมของบุคคลเช่นว่านั้นจะถูกจำกัดอยู่ในกิจกรรมที่กล่าวถึงในวรรค 3 หากได้กระทำผ่านสถานธุรกิจประจำจะไม่ทำให้สถานธุรกิจประจำเช่นว่านั้นเป็นสถานประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติของวรรคนั้น

 

5.             วิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งจะไม่ถือว่ามีสถานประกอบการถาวรในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งเพียงเพราะว่า วิสาหกิจดังกล่าวดำเนินธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น โดยผ่านทางนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระโดยมีเงื่อนไขว่าบุคคลเช่นว่านั้นกระทำการอันเป็นปกติในธุรกิจของตน

 

6.             ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งควบคุมหรืออยู่ในความควบคุมของบริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งหรือซึ่งประกอบธุรกิจในอีกรัฐหนึ่งนั้น (ไม่ว่าจะผ่านสถานประกอบการถาวรหรือไม่ก็ตาม) มิเป็นเหตุให้บริษัทหนึ่งบริษัทใดเป็นสถานประกอบการถาวรของอีกบริษัทหนึ่ง

 

ปรับปรุงล่าสุด: 08-12-2011