เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6847
วันที่: 23 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง
ข้อกฎหมาย : คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ฯ และ ท.ป. 176/2552ฯ
ข้อหารือ           1. บริษัท ก. ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์แบบลีสซิ่ง บริษัท ข.จำกัด. (ผู้ให้เช่า) จำนวน 14 สัญญา โดยมีวันเริ่มสัญญาต่างกัน มีกำหนดระยะเวลาเช่าตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ผู้ให้เช่าเป็นนิติบุคคลมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ต่อมาบริษัท ก. ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์จากผู้ให้เช่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2554 นับถึงวันบอกเลิกสัญญามีระยะเวลาเช่าจริงเกิน 3 ปี จำนวน 2 สัญญา น้อยกว่า 3 ปี จำนวน 12 สัญญา
          3. เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 เจ้าพนักงานสรรพากรได้เข้าตรวจสภาพบริษัท ก. และให้คำแนะนำว่า กรณีบริษัท ก. ซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้สัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งตกเป็นโมฆะ ไม่ถือเป็นสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งมาตั้งแต่ต้น บริษัท ก. จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมเงินเพิ่ม สำหรับการจ่ายเงินได้ค่าเช่า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งบริษัท ก. มิได้โต้แย้งใดๆ ในขณะนั้นและได้ดำเนินการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 53 จำนวน 36 ฉบับ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เพื่อนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงิน 4,130,605.78 บาท พร้อมเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 2,605,292.99 บาท
          4. เมื่อบริษัท ก. ได้ศึกษาข้อกฎหมายประกอบกับแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรตาม FAQ บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร เลขที่ 410851 เห็นว่าสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งมีผลสมบูรณ์แล้วตามมาตรา 367 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกรณีดังกล่าวผู้ให้เช่าเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขข้อ 6 วรรคสอง ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 176/2552 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 แม้ว่าภายหลังสัญญาเช่าจะระงับไปก่อนครบกำหนดเวลา บริษัท ก. ก็ไม่ต้องนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พร้อมเงินเพิ่มแต่อย่างใด บริษัท ก. จึงมีหนังสือถึงกรมสรรพากรเพื่อขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายพร้อมเงินเพิ่มตามจำนวนเงินในข้อ 3.
แนววินิจฉัย           ข้อ 6 วรรคสองและวรรคสามของคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.ป. 176/2552ฯ ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 การจ่ายเงินค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ ไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
          (1) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
          (2) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล
          (3) กำหนดเวลาเช่าต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้คำว่า "การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง" หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้จากข้อเท็จจริงข้างต้นที่บริษัท ก. ตกลงกับผู้ให้เช่าเลิกสัญญาเช่าก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า ส่งผลให้สัญญาสิ้นสุดลงก่อนระยะเวลา 3 ปี กรณีจึงไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ 6 วรรคสอง (3) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 176/2552ฯ ลงวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552 บริษัท ก. จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามสัญญาดังกล่าว ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 78/39803

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020