เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6598
วันที่: 15 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมในระหว่างการชำระบัญชี
ข้อกฎหมาย : มาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           ธนาคาร ก.เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม A 1 ถึง 3 กองทุนรวม B กองทุนรวมC และกองทุนรวม D ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งตามประกาศของคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทน 21/2552เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน กำหนดให้อายุของโครงการของกองทุนรวมจะต้องสิ้นสุดไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2558 (วันเลิกกองทุน)ทั้งนี้ ในการบริหารกองทุนรวม ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนฉบับดังกล่าว ได้กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิจากการขายหรือจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิเรียกร้องที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันให้จ่ายได้ไม่เกินสองในสามส่วนของกำไรสุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว และเมื่ออายุของโครงการสิ้นสุดลง ผู้จัดการกองทุนจะต้องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีขึ้นให้ทำหน้าที่ชำระบัญชีของกองทุน และแบ่งเงินส่วนแบ่งกำไรที่เหลือหลังจากชำระหนี้ทั้งในส่วนที่เกิดก่อนวันเลิกกองทุนดังกล่าวและในส่วนที่เกิดในขั้นตอนการชำระบัญชี เว้นจากการจำหน่ายทรัพย์สินคงเหลือให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนแต่ละรายถืออยู่
          1.เนื่องจากกองทุนดังกล่าวยังคงมีสิทธิเรียกร้องในลูกหนี้สถาบันการเงิน (NPL) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลหรือมีคำพิพากษาแล้ว แต่มีข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้ไม่อาจจำหน่าย จ่าย โอน ออกไปได้ภายในระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันเลิกกองทุน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนกำหนดทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน กลต.) จึงพิจารณาเป็นเหตุสุดวิสัยและเข้าข่ายที่จะได้รับผ่อนผันระยะเวลาการชำระบัญชีออกไปได้ โดยหลังจากการชำระบัญชีเสร็จสิ้น ผู้ชำระบัญชีต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกกองทุนต่อสำนักงาน กลต. เพื่อรับการจดทะเบียนเลิกกองทุนธนาคาร ก.จึงหารือว่า การจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมในระหว่างการชำระบัญชีแต่ก่อนการยื่นคำขอจดทะเบียนเลิกกองทุน ยังคงถือเป็นเงินส่วนแบ่งกำไรที่อาจได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536และพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536 หรือไม่
แนววินิจฉัย           1.กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งอยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ และยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536
          2.กรณีธนาคาร ก.เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวม โดยถือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินได้เกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ได้หน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันมีเงินได้ ต่อมากองทุนรวมได้จดทะเบียนเลิกกองทุนไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ กรณีจึงมิใช่การโอนหน่วยลงทุนนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ธนาคาร ก.ย่อมได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536
เลขตู้: 78/39784

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020