เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6813
วันที่: 22 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาให้กับชาวต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(2) มาตรา 41 วรรค 1 มาตรา 41 วรรค 3 มาตรา 50(1)วรรค 4 และประกาศกระทรวงการคลังฯเรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย มาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548
ข้อหารือ           กรณีการจ่ายเงินค่าที่ปรึกษาให้กับชาวต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่แน่ชัดเกี่ยวกับการพิจารณาตรวจสอบและกระบวนการรับรองผู้ขนส่งสินค้าอันตราย คณะรัฐมนตรีจึงพิจารณาแนวทางแก้ไขสถานการณ์การบินของประเทศไทย โดยมีมติให้ความเห็นชอบแนวทางการแก้ไขด้วยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินการจัดหาบุคลากรและองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 13 คน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหน่วยงาน ในวงเงินจำนวน 23.4 ล้านบาท กรณีดังกล่าว กรมฯ จึงจ้าง Mr.A ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งสินค้าอันตรายจาก Transportation of Dangerous Goods เป็นที่ปรึกษาโดยวิธีตกลง เพื่อแก้ไขผลการตรวจสอบที่พบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ในประเด็นเรื่องการดำเนินการรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) โดย Mr.A มีหน้าที่จัดทำคู่มือ Dangerous Goods Inspector Guidance Manual และคู่มือ The Safe Transport of Dangerous Goods by Air อันเป็นแนวทางการขนส่งสินค้าอันตรายทางอากาศของประเทศไทย รวมทั้งจัดฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่จำเป็นให้แก่เจ้าหน้าที่กรมฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ โดยมีกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2558 รวมทั้งสิ้น 26 วัน ซึ่งกรมฯ ตกลงจ่ายค่าจ้างให้แก่ Mr.A จำนวนทั้งสิ้น 19,130 เหรียญสหรัฐ กรมฯ จึงขอหารือ ดังนี้
          1.การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับบุคคลซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย เป็นไปตามหลักเกณฑ์ใด
          2.กรณีกรมฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ้างที่ปรึกษาดังกล่าว จะต้องหักจำนวนเท่าใด
แนววินิจฉัย           กรณีกรมฯ จ้าง Mr.A เป็นที่ปรึกษาแนวทางการขนส่งสินค้าอันตรายทางอากาศของประเทศไทย โดยมีหน้าที่จัดทำคู่มือและจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมฯ เงินได้ที่ Mr.A ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากรและเป็นเงินได้จากหน้าที่งานที่ทำในประเทศไทยตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และโดยที่ Mr.A อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วันในปีภาษี จึงไม่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อกรมฯ จ่ายเงินค่าจ้างจำนวน 19,130 เหรียญสหรัฐให้ Mr.A กรมฯ จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(1) วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548อย่างไรก็ดี หาก Mr.A เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศซึ่งมีอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศไทย กรณีดังกล่าว จำเป็นต้องพิจารณาก่อนว่า เงินได้ที่กรมฯ จ่ายให้บุคคลดังกล่าวจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ให้แก่ประเทศไทยหรือไม่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบทแห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำไว้กับประเทศนั้นๆ โดยต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป
เลขตู้: 78/39800

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020