เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/6745
วันที่: 21 กรกฎาคม 2558
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการให้บริการให้คำปรึกษา
ข้อกฎหมาย : มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           บริษัท ก.จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ได้เข้าทำสัญญารับบริการ (Services Agreement) ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2555 กับบริษัท A จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายของสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย โดยที่บริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันและแก๊ส ส่วนบริษัท ก. มีลูกค้าที่เป็นบริษัทน้ำมันและแก๊ส ซึ่งดำเนินการในด้านการขุดเจาะหาแหล่งน้ำมันและแก๊สในประเทศไทยและต้องการทราบวิธีแก้ปัญหา การศึกษาการขุดเจาะ รายงานแนวคิดหลัก การหาข้อเท็จจริงทางเทคนิค หรือการบริการอย่างเป็นขั้นตอน สำหรับธุรกิจประเภทนี้ ทั้งสองบริษัทนี้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกันและมีอิสระในการดำเนินธุรกิจของตนการให้บริการของบริษัท A ให้บริการในด้านต่างๆ ดังนี้
          1.ดำเนินการวิเคราะห์แนวคิดหลักที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต การออกแบบการพัฒนา และการออกแบบเบื้องต้น รวมทั้งการศึกษาการไหลของน้ำมันและแก๊สให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
          2.ให้คำปรึกษาด้านการป้องกันการสูญเสีย การศึกษาวิเคราะห์ตรวจสอบและวิเคราะห์ความปลอดภัยทางเทคนิค (การตรวจสอบเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น)
          3. จัดให้มีการดำเนินงานทางวิศวกรรมด้านต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาและออกแบบ
          4.ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการและการวางแผนเชิงกลยุทธ์
          5.ให้คำปรึกษาด้านน้ำมันและแก๊สในภาคสนาม รวมทั้งวิศวกรรมด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
          6.การบริการเกี่ยวกับโครงการ ได้แก่ การบริหารจัดการโครงการ การประเมินราคา การประเมินต้นทุน และการวางแผนการให้บริการต่างๆ
          บริษัท A ไม่ได้ใช้ข้อมูลที่อื่นหรือได้ใช้ลิขสิทธิ์หรือ knowhow ใดๆ ในงานวิศวกรรมหรืองานวิทยาศาสตร์ รวมถึงสูตรลับหรือกรรมวิธีใดๆ ตลอดจนอุปกรณ์ทางอุตสาหกรรมต่างๆ บริษัท A ให้คำปรึกษาและตรวจเช็คเนื้องานที่วิศวกรไทยของบริษัท ก. จัดทำขึ้นโดยอาศัยความเชี่ยวชาญของวิศวกรที่ปรึกษาเพื่อให้แน่ใจว่า งานที่วิศวกรไทยของบริษัท ก. จัดทำขึ้นนั้น มีความสอดคล้องและเป็นไปตามหลักมาตรฐานปิโตรเลียมสากล (เป็นมาตรฐานเปิดและถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย) เป็นการพัฒนาวิศวกรไทยให้มีความเชี่ยวชาญในงานด้านต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันให้มากขึ้น บริษัท ก. จำเป็นต้องแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ โดยจะส่งงานที่มีความซับซ้อนและยุ่งยากให้กับบริษัท A เพื่อให้งานที่มีระยะเวลาจำกัดสำเร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจัดจ้าง ส่วนการดำเนินการให้บริการนั้น บริษัท ก. จะมีการออกใบจ้างงาน โดยบริษัท ก. จะได้ลูกค้าบริษัทน้ำมันในประเทศไทยจากการทำข้อนำเสนอ (Proposal) และเข้าไปประมูลงานกับบริษัทน้ำมันในประเทศไทยซึ่งจะเป็นลูกค้าของบริษัท ก. ต่อเมื่อมีการตกลงว่าจ้าง สำหรับงานด้านที่บริษัท ก. ขอรับบริการจากบริษัท A บริษัท ก. จะส่งใบว่าจ้างพร้อมทั้งรายละเอียดขอบเขตของงานไปให้ งานที่ให้บริการจะกระทำนอกประเทศไทย การคิดค่าบริการจะมีการประเมินเป็นรายชั่วโมงของงานที่ว่าจ้างพร้อมทั้งกำหนดราคาโดยประมาณ บริษัท ก. จะมีเจ้าหน้าที่และวิศวกรไทยที่สามารถทำงานได้เองในแต่ละงานที่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทน้ำมันในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดขอบเขตงาน ดังต่อไปนี้
          1.การจัดหาการบริการด้านวิศวกรรม สำหรับโครงการศึกษาแท่นขุดเจาะของบริษัท S และกรณีศึกษาความปลอดภัย
          2.อัตราค่าจ้างในตำแหน่งต่างๆ
          3.การบริการทางวิศวกรรม จะให้บริการโดยบริษัท A ในสหราชอาณาจักร โดยไม่มีการบริการวิศวกรรมใดๆ ที่ให้บริการในประเทศไทย
          บริษัท ก. เห็นว่า ค่าบริการที่บริษัท ก. จ่ายให้กับบริษัท A ไม่อยู่ในข้อบังคับต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเงินค่าบริการที่จ่ายให้เป็นกำไรธุรกิจของวิสาหกิจสหราชอาณาจักร ที่มิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยตามข้อ 8 อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างรัฐบาลสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย จึงขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัท ก. ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย           กรณีบริษัท ก. จดทะเบียนในประเทศไทย ได้เข้าทำสัญญารับบริการ (Services Agreement) กับบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายของสกอตแลนด์สหราชอาณาจักร และไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ตามรายละเอียดขอบเขตงานการให้บริการดังกล่าว โดยเนื้อหาและขอบเขตแห่งสัญญาไม่มีการให้แผนผัง สูตรหรือกรรมวิธีลับใดๆ หรือสิทธิในการใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม การพาณิชย์หรือวิทยาศาสตร์ถือเป็นการรับจ้างทำของ ค่าตอบแทนจากการให้บริการ จึงเข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจ หากบริษัท A ไม่ได้ประกอบกิจการผ่านสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย บริษัท A จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 8 วรรคหนึ่ง ของอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ดังนั้น บริษัท ก. ในฐานะผู้จ่ายเงินได้จากค่าบริการดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 78/39790

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020