เลขที่หนังสือ | : 0702/6850 | วันที่ | : 23 กรกฎาคม 2558 | เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย | ข้อกฎหมาย | : มาตรา77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 81 มาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
นาง ก.ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สัญญา งานทะเบียนนิติบุคคล การตรวจและจัดเตรียมงานเกี่ยวกับการวางแผน กำกับ ตรวจร่างคำฟ้อง คำให้การ คำเบิกความ โดยผู้ว่าจ้างจะไปว่าจ้างทนายความสำหรับการดำเนินคดีในศาล ซึ่งนาง ก.รับจ้างผู้ว่าจ้างหลายรายและได้รับเงินค่าจ้างเป็นการเหมาจ่ายรายเดือน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการนิติบุคคลโดยได้รับค่าบำเหน็จกรรมการเป็นรายเดือน นาง ก.ได้หารือ ดังนี้
1.เงินได้ประเภทค่าที่ปรึกษากฎหมาย ค่าบำเหน็จกรรมการ ค่ารับรองลายมือชื่อและค่าดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ 2.กรณีที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หากปีต่อมารายได้จากการประกอบอาชีพต่างๆ ข้างต้นไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี นาง ก.จะขอยกเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือไม่ อย่างไร 3.ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าแบบพิมพ์ ค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาตการรับรองลายมือชื่อ ค่าเครื่องเขียน ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ และ 4.กรณีขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง การของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จะทำได้หรือไม่ และต้องดำเนินการ อย่างไร | แนววินิจฉัย |
1.กรณีที่นาง ก.ประกอบอาชีพให้คำปรึกษากฎหมาย จัดทำสัญญา ทำงานทะเบียนนิติบุคคล ตรวจและจัดเตรียมงานเกี่ยวกับการวางแผน กำกับร่างคำฟ้อง คำให้การ คำเบิกความ โดยผู้ว่าจ้างจะไปว่าจ้างทนายความสำหรับการดำเนินคดีในศาล ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการว่าความ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ก.จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่นาง ก.ทำหน้าที่เป็นกรรมการนิติบุคคล เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการ อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากนิติบุคคลดังกล่าวเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด การกระทำดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) เรื่อง การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
2.กรณีที่นาง ก.ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว หากต่อมามีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี นาง ก.มีสิทธิขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 85/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากร 3.กรณีภาษีซื้อที่นาง ก.จะมีสิทธินำมาใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ จะต้องปรากฏว่า ไม่เป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535 4.กรณีการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ปฏิบัติตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537 | เลขตู้ | : 78/39804 |