เมนูปิด

เลขที่หนังสือ : กค 0702/7126
วันที่ : 3 พฤศจิกายน 2563
เรื่อง : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ตรี (5)
ข้อหารือ บริษัท ก. (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563 โดยขอทราบว่า computer notebook handheld และ printer ตลอดจนอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เข้าลักษณะเป็น “เครื่องจักร” ตามบทบัญญัติในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 695)ฯ หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563 ได้กำหนดนิยามคำว่า “เครื่องจักร” ไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งแบ่งองค์ประกอบได้ 2 ประการ ดังนี้
1. เป็นสิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้น และ
2. สำหรับใช้ก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยนหรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน
ดังนั้น ทรัพย์สินใดก็ตามที่เข้าองค์ประกอบทั้ง 2 ประการข้างต้น และไม่เป็นยานพาหนะที่ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ ย่อมเข้าลักษณะเป็นเครื่องจักร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563 หากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 378) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่าย เพื่อการลงทุนในเครื่องจักร แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 695) พ.ศ. 2563
เลขตู้ : 83/40982

 

ปรับปรุงล่าสุด: 27-04-2023