เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/1702
วันที่: 7 มีนาคม 2562
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการให้แก่นิติบุคคล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            นาย ก ผู้รับใบอนุญาตจัดตั้งและประกอบกิจการโรงเรียนกวดวิชาตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550ได้ขอเปลี่ยนชื่อผู้รับอนุญาตในใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ เป็นบริษัทฯ โดยไม่มีค่าตอบแทน และนอกจากนี้ ได้โอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการโรงเรียน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพริ้นเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องขยายเสียง เอกสารประกอบการเรียนที่แจกให้นักเรียน ฯลฯ ให้แก่บริษัทฯ โดยคิดมูลค่าตามราคาทรัพย์สิน ณ วันที่โอน และบริษัทฯ ได้นำทรัพย์สินที่รับโอนมาบันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
                1. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการโรงเรียนฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร หรือไม่ อย่างไร
                2. หากเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดังกล่าวต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะสามารถหักค่าใช้จ่าย อย่างไร
                3. การโอนทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
                1.1 กรณีที่ขอเปลี่ยนชื่อผู้รับอนุญาตในใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนฯ จากบุคคลธรรมดาเป็นบริษัทฯ นั้น หากมิได้รับค่าตอบแทนใด ๆ กรณีดังกล่าว นาย ก ไม่มีเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใด
                1.2 กรณีที่ได้โอนทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการโรงเรียนฯ ให้แก่บริษัทฯ นั้น เงินได้จากการโอนทรัพย์สินในลักษณะดังกล่าว ถือเป็นเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (9) แห่งประมวลรัษฎากร
           อย่างไรก็ดี หากทรัพย์สินใดที่โอนเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อขายให้แก่นักเรียน
           2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
           กรณีที่โอนทรัพย์สินทั้งหมดให้บริษัทฯ เพื่อให้บริษัทฯ ได้ใช้ทรัพย์สินต่อไป ในกิจการโรงเรียนฯ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยผู้ประกอบการตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร การโอนทรัพย์สินดังกล่าว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 82/40844

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020