เมนูปิด

          ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดทำโครงการ Establishment and Operation of a Regional System of Fisheries Refugia in the South China Sea ร่วมกับ United Nations Environment Programme และได้มอบหมายให้ Mr. A สัญชาติออสเตรเลีย มาปฏิบัติงานในตำแหน่ง Project Director of the SEAFDEC/UNEP/GEF Project ประจำที่สำนักงานฝ่ายฝึกอบรมของศูนย์พัฒนาการประมงฯ เป็นเวลา 3 ปี ศูนย์พัฒนาการประมงฯ จึงขอให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินค่าจ้าง เงินเพิ่ม และเงินได้อื่น ๆ ที่ Mr. A ได้รับจากเครือรัฐออสเตรเลีย

          เนื่องจากตามข้อ 4 ของหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ระบุให้เอกสิทธิ์และการอำนวยความสะดวกแก่หัวหน้า รองหัวหน้า และเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานฝ่ายฝึกอบรมของศูนย์พัฒนาการประมงฯ เทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ภายใต้แผนการโคลัมโบระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอแลนด์เหนือ ซึ่งตามคำแปลหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่าง ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ ฯพณฯ เอกอัครราชทูตอังกฤษ เรื่อง การยกเว้นภาษีอากรให้แก่ผู้เชี่ยวชาญตามแผนการโคลัมโบ ระบุให้ผู้เชี่ยวชาญภายใต้แผนการโคลัมโบได้รับการยกเว้นการจดทะเบียนคนต่างด้าว ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือน เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากประเทศของตน และภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสิ่งของส่วนตัวและของใช้ในบ้านเรือนภายใน 3 เดือน นับแต่เดินทางมารับหน้าที่ครั้งแรก ดังนั้น หากตำแหน่ง ดังกล่าว มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของศูนย์พัฒนาการประมงฯ Mr. A ย่อมได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินเดือน เงินเพิ่ม และเงินได้ต่าง ๆ ที่ได้รับจากเครือรัฐออสเตรเลียตามหนังสือแลกเปลี่ยน และมาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2499

เลขที่หนังสือ: 0702/3729 วันที่: 6 มิถุนายน 2562 เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเอกสิทธิ์ของผู้เชี่ยวชาญชาวออสเตรเลีย ข้อกฎหมาย : มาตรา 3 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 82/40865

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020