เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5723
วันที่: 27 สิงหาคม 2562
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย : มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            1. บริษัท ยู (U) ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกระบวนการกลั่นน้ำมันชื่อ “กรรมวิธีพาเร็กซ์” ได้ทำสัญญาให้สิทธิใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ (Parex Process License Agreement) (สัญญาฯ) แก่บริษัท เอ็ก (Ex) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเอ็ก คอร์ป (Excorp) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยข้อ 8 ของสัญญาฯ กำหนดว่า การใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ตามสัญญาฯ Ex มีสิทธิที่จะอนุญาตให้บริษัทอื่น ๆ ในเครือของ Excorp ร่วมใช้ได้โดยต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก U และบริษัทที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวต้องผูกพันตามข้อสัญญาฯ เสมือนได้ทำสัญญาฯ กับ U โดยตรง
           2. Ex ได้อาศัยสิทธิตามข้อ 8 ของสัญญาฯ อนุญาตให้บริษัท อ. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Excorp ใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ และ U ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่บริษัทฯ แล้ว โดยเงื่อนไข ของสัญญาฯ กำหนดไว้ว่า กลุ่มบริษัทในเครือ Excorp มีสิทธิใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์เพื่อกลั่นน้ำมันรวมกันได้ปีละ 4,915,037,898 ปอนด์ และแต่ละบริษัทจะต้องชำระค่าสิทธิการใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ในส่วนที่ตนได้ใช้ให้แก่ U โดยตรง ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ นั้น จะต้องชำระค่าสิทธิให้แก่ U เป็นจำนวน 6 งวด งวดละ 67,674,038 บาท บริษัทฯ ได้ชำระค่าสิทธิให้แก่ U โดยตรงและได้คำนวณหักภาษีเงินได้ไว้ในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
           3. อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 กลุ่มบริษัทในเครือ Excorp ได้ใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ ทำการกลั่นน้ำมันได้เกินกว่าปริมาณที่กำหนดตามสัญญาฯ เป็นจำนวน 285,746,383 ปอนด์ โดยจำนวนน้ำมันที่กลั่นเกินมานี้ คิดเป็นส่วนของบริษัทฯ จำนวน 105,835,579 ปอนด์ และคิดเป็นค่าสิทธิที่บริษัทฯ ต้องชำระให้แก่ U เป็นเงิน 69,182,831 บาท (1,969,304 เหรียญสหรัฐ)
           4. ในการเรียกเก็บค่าสิทธิการใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ส่วนที่กลั่นน้ำมันเกินกว่าสัญญาฯ กำหนดไว้ U ได้ออกใบแจ้งหนี้ผิดพลาด โดยได้ระบุเป็นยอดรวมค่าสิทธิทั้งหมดของกลุ่มบริษัทในเครือ Excorp ส่งไปยัง Ex ด้วยเหตุดังกล่าว Ex ได้ชำระค่าสิทธิเต็มจำนวนตามที่ U เรียกเก็บ ซึ่งรวมทั้งค่าสิทธิส่วนของบริษัทฯ (จำนวน 69,182,831 บาท) ด้วย แล้ว Ex จึงมาเรียกเก็บจากบริษัทฯ ในภายหลัง
           5. ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อนของบริษัทฯ ว่า จำนวนค่าสิทธิที่ Ex เรียกเก็บดังกล่าว เป็นค่าสิทธิที่บริษัทฯ จะต้องชำระให้แก่ Ex ตามสัญญา Standard Research Agreement ซึ่งเป็นสัญญาอีกฉบับหนึ่งที่บริษัทฯ ทำกับ Ex โดยตามสัญญา Standard Research Agreement บริษัทฯ มีข้อผูกพันต้องชำระค่าสิทธิอีกส่วนหนึ่งให้ Ex และมีหน้าที่ต้องออกภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าสิทธิที่ชำระด้วย ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ชำระค่าสิทธิคืนให้แก่ Ex ตาม 4. บริษัทฯ จึงได้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และออกเงินภาษีแทน Ex โดยสำคัญผิด และได้นำส่งกรมสรรพากรรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 12,208,734.90 บาท พร้อมกับออกหนังสือรับรองการหักภาษีและกรอกแบบ ภ.ง.ด.54 ในชื่อของ Ex ซึ่งมีรายละเอียดของจำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณหักไว้ ดังนี้
                (ก) ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณหักจากค่าสิทธิ 69,182,831 บาท x ร้อยละ 15 = 10,377,424.67 บาท
                (ข) ภาษีเงินได้นิติบุคคลคำนวณหักจากภาษีตาม (ก) แบบออกแทน 10,377,424.67 บาท x ร้อยละ 15 = 1,556,613.70 X 15 = .... รวมเป็นเงิน 1,831,310.23 บาท
           6. ต่อมาเมื่อ U ได้แก้ไขใบแจ้งหนี้ที่ส่งให้กับ Ex โดยได้แยกจำนวนค่าสิทธิของแต่ละบริษัทในกลุ่ม Excorp แล้ว U ได้แจ้งแก่บริษัทฯ เพื่อขอรับหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับจำนวนค่าสิทธิการใช้กรรมวิธีพาเร็กซ์ บริษัทฯ จึงทราบว่า การจ่ายค่าสิทธิตาม 5. มิใช่การจ่ายให้แก่ Ex ตามสัญญา Standard Research Agreement แต่เป็นค่าสิทธิที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายให้แก่ U ตามสัญญาฯ ซึ่งบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องออกภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน U แต่อย่างใด ดังนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ จะต้องคำนวณหักและนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ถูกต้องจึงมีจำนวนเพียง 10,377,424.67 บาท
           7. การที่บริษัทฯ สำคัญผิดว่า เป็นการจ่ายค่าสิทธิให้แก่ Ex โดยได้คำนวณภาษีแบบออกแทนให้ และได้นำเงินของบริษัทฯ ไปชำระภาษีเกินกว่าจำนวนที่ต้องคำนวณหักไว้จริงเป็นจำนวน 1,831,310.23 บาท ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ได้ชำระเงินภาษีไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย บริษัทฯ จึงยื่นคำร้องแบบ ค.10 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 เพื่อขอคืนส่วนต่างของเงินภาษีที่ออกแทนให้จำนวน 1,831,310.23 บาท ที่นำส่งเกินไป ทั้งนี้ Ex ได้ออกใบลดหนี้และได้คืนเงินสำหรับจำนวนเงินภาษีที่ออกแทนดังกล่าวให้แก่บริษัทฯ แล้ว
          บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีจำนวนที่นำส่งเกินได้หรือไม่
แนววินิจฉัย            หากการที่บริษัทฯ ได้คำนวณหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร แบบออกภาษีแทนและนำเงินของบริษัทฯ ส่งชำระเป็นค่าภาษีต่อกรมสรรพากรเกินไปดังกล่าว เกิดจากการที่บริษัทฯ สำคัญผิดว่า การจ่ายค่าสิทธินั้นเป็นการจ่ายให้แก่ Ex ซึ่งบริษัทฯ มีข้อผูกพันจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน การที่บริษัทฯ นำเงินของบริษัทฯ ไปชำระเป็นเงินภาษีเกินไปโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียดังกล่าว ถือได้ว่า บริษัทฯ เป็นผู้เสียประโยชน์ และบริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่หักและนำส่งไว้เกินจำนวนโดยสำคัญผิดได้ในนามของตนเอง โดยให้ยื่นคำร้องขอภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 82/40878

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020