เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/4908
วันที่: 21 มิถุนายน 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินได้
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (8) มาตรา 50 (2) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            ธนาคาร ท. (มหาชน) (ธนาคารฯ) ได้ขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งภาษีและออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงินได้ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ธนาคารฯ จะเปิดให้บริการซื้อขายกองทุนรวมผ่านบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุน (Omnibus Account) โดยในการให้บริการดังกล่าว ธนาคารฯ จะเป็นตัวแทนสนับสนุนการซื้อและขายหน่วยลงทุนให้แก่กองทุนรวมต่าง ๆ โดยธนาคารฯ จะได้รับค่าธรรมเนียมเป็นการตอบแทน นอกจากนั้น ธนาคารฯ จะเป็นผู้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งภาษี และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนรวมแทนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เนื่องจาก บลจ. ไม่ทราบรายละเอียดของลูกค้า โดยธนาคารฯ จะได้รับมอบอำนาจจาก บลจ. ในการเป็นตัวแทนในการหักภาษี เงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งภาษี และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทน บลจ. ผู้จ่ายเงินได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เนื่องจากธนาคารฯ ยังมิได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรเพื่อดำเนินการดังกล่าวแทน บลจ. ธนาคารฯ จึงขออนุมัติให้ธนาคารฯ ดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งภาษี และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แทน บลจ. เพื่อธนาคารฯ จะได้สามารถดำเนินการดังกล่าวแทน บลจ. และให้บริการแก่ลูกค้าที่ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมผ่านบัญชีซื้อขายหน่วยลงทุนแบบไม่เปิดเผยชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนได้ต่อไป
แนววินิจฉัย            1.เงินได้พึงประเมินที่เป็นเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้มีเงินได้เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งอยู่ในประเทศไทยและได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมดังกล่าว ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้นั้นหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 262) พ.ศ. 2536 และ บลจ. ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย ด้วยแบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.2) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 58) เรื่อง กำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2538 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544
           2. กรณี บลจ. ผู้จ่ายเงินได้ ซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 1. ไม่สามารถดำเนินการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย นำส่งภาษี และออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เนื่องจาก บลจ. จะไม่ทราบรายละเอียดของลูกค้า ธนาคารฯ ในฐานะนายทะเบียนกองทุน จึงมีความประสงค์จะเป็นตัวแทนของ บลจ. ผู้จ่ายเงินได้ เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แทนผู้จ่ายเงิน ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ กรณีนี้ธนาคารฯ มีสิทธิกระทำได้ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดย บลจ. จะต้องจัดทำสัญญาการตั้งตัวแทน และมอบอำนาจให้ธนาคารฯ กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ธนาคารฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.2 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ว่า “ธนาคารฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงิน” ในแบบ ภ.ง.ด.2
เลขตู้: 81/40694

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020