เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/5048
วันที่: 27 มิถุนายน 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากค่าทดแทนความเสียหายหรือค่าเสื่อมประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจรัฐของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            1. นาย ส เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน รวม 13 แปลง ได้รับเงินได้พึงประเมิน ซึ่งเป็นค่าทดแทนความเสียหายหรือค่าเสื่อมประโยชน์จำนวน 10,527,000 บาท กรณีที่ที่ดินตกอยู่ในภาระจำยอม ตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
          2. สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดย กกพ. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 23 มาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติฯ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 มาตรา 107 มาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติฯ ออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง กำหนดเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังหน่วยผลิตกระแสไฟฟ้าและไอน้ำ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (โรงไฟฟ้าคลองหลวง) ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 (ประกาศฯ) ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 และฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2560 ตามลำดับ กำหนดให้ที่ดินตกอยู่ในบังคับแห่งประกาศดังกล่าว และกำหนดห้ามมิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน ต้นไม้หรือสิ่งใด ติดตั้งสิ่งอื่นใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคในเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ พร้อมกับกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินรับเงินทดแทนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ. กำหนด
          3. บริษัท ค.จำกัด (บริษัทฯ) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจให้ใช้อำนาจตามประกาศหรือคำสั่งของ กกพ. ตามมาตรา 5 ประกอบกับมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฯ และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ได้มาเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการจ่ายเงินค่าทดแทนกับนาย ส ซึ่งยินยอมรับเงินค่าทดแทนความเสียหายในจำนวนดังกล่าว กรณีที่ กกพ. ออกประกาศกำหนดเขตฯ โดย กกพ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดให้ที่ดินทั้งหมดข้างต้นของนาย ส. ต้องตกอยู่ในบังคับและถูกห้ามตามมาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติฯ พร้อมกับกำหนดให้เป็นผู้ได้รับค่าทดแทนความเสียหายนั้น เป็นคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายสั่งให้ประชาชนทำการหรือหยุดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเข้าลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง โดยมีบริษัทฯ ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ใช้อำนาจทางปกครองตามประกาศดังกล่าวอันอาจถือได้ว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติทางปกครอง พ.ศ. 2539 แม้นาย ส. จะไม่ยินยอมและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็อาจต้องถูกล่วงล้ำสิทธิในที่ดินโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และอาจต้องถูกบังคับให้ต้องยอมรับเงินค่าทดแทน หากมีกรณีที่ต้องเวนคืนที่ดินตามมาตรา 104 มาตรา 105 แห่งพระราชบัญญัติฯ นาย ส. จึงขอหารือว่าเงินค่าทดแทนความเสียหายหรือค่าเสื่อมประโยชน์ที่ได้รับนั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (87) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            กรณีสำนักงาน กกพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐโดยมีเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการ กกพ. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 มาตรา 107 มาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติฯ ออกประกาศฯ ฉบับลงวันที่ 27 มิถุนายน 2559 และฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2560 ตามลำดับ กำหนดให้ที่ดินทั้งหมดข้างต้นของนาย ส. ตกอยู่ในบังคับแห่งประกาศดังกล่าว และกำหนดห้ามมิให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน ต้นไม้หรือสิ่งใด ติดตั้งสิ่งอื่นใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคในเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ พร้อมกับกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินรับเงินทดแทนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กกพ. กำหนด ดังนี้ ค่าทดแทนความเสียหายหรือค่าเสื่อมประโยชน์ที่นาย ส. ได้รับจำนวน 10,527,000 บาท จึงเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากความเสียหายหรือเสื่อมประโยชน์ที่เกิดจากการใช้อำนาจของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของนาย ส. ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (87) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509
เลขตู้: 81/40696

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020