เลขที่หนังสือ | : 0702/4413 | วันที่ | : 7 มิถุนายน 2561 | เรื่อง | : ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 91/2 (6) และมาตรา 91/8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร | ข้อหารือ |
บริษัท ก.จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์ มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. บริษัท ก. บริษัท ข.และบริษัท ค. จำกัด ได้ควบเข้ากัน และได้จดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ คือ บริษัท ก. จำกัด โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 13,000,000 บาท (สิบสามล้านบาทถ้วน) ซึ่งจำนวนดังกล่าวเป็นการรวมทุนจดทะเบียนของทั้งสามบริษัทเข้าด้วยกัน และหุ้นส่วนยังคงเป็นหุ้นส่วนเดิมทั้งหมด รวมถึงกรรมการยังคงเดิมเช่นกัน 2. การดำเนินการจดทะเบียนเพื่อควบเข้ากัน บริษัทฯ มิได้ทำการยื่นแบบแสดงรายการ ค.อ. 1 ค.อ. 2 ค.อ. 3 และ ค.อ. 4 ตามกำหนดเวลา บริษัทฯ จึงได้ทำหนังสือขอขยายกำหนดเวลายื่นแบบ ค.อ. 1 ค.อ. 2 ค.อ. 3 และ ค.อ. 4 ต่ออธิบดีกรมสรรพากร แต่ บริษัทฯ ไม่ได้รับอนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาการแจ้งรายการ กรณีการควบเข้ากันของบริษัทฯ ตามที่บริษัทฯ ก ร้องขอ และ 3. บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนของที่ดิน อาคารสำนักงาน และอาคารรับรอง โดยรวมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ตามแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ. 40) โดยบริษัทฯ ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าว บริษัทฯ ขอหารือว่า การควบเข้ากันของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ใดๆ ในที่ดิน อาคารสำนักงาน และอาคารรับรอง โดยไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ หรือไม่ | แนววินิจฉัย |
กรณีที่บริษัทฯ ควบเข้ากันทรัพย์สินของบริษัทที่ควบเข้ากันจะต้องโอนให้กับบริษัทตั้งขึ้นใหม่ ดังนั้นทรัพย์สินของบริษัทที่ควบเข้ากันจะต้องโอนมาที่บริษัทฯ ทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯ จะต้องรับมาทั้งสิทธิและหน้าที่และทรัพย์สินของบริษัทที่ควบเข้ากัน การที่บริษัทฯ รับโอนที่ดิน อาคารสำนักงาน และอาคารรับรองตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรหากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ทั้งนี้ ตามมาตรา 91/2 (6) และมาตรา 91/8 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541
สำหรับอากรแสตมป์หากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่เสียอากรแสตมป์ ทั้งนี้ ตามมาตรา 103 และมาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร และตามลักษณะแห่งตราสารที่ 28.(ข) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ | เลขตู้ | : 81/40685 |