เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เรื่อง    กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการขายทองรูปพรรณ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่า ของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ มารวมคำนวณ มูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 และข้อ 2(14) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) เรื่อง กำหนดลักษณะและเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 106) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2543 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการขายทองรูปพรรณ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ มารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ มารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องแจ้งการประกอบกิจการขายทองรูปพรรณต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งการ ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

                           กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แจ้งการประกอบกิจการขายทองรูปพรรณเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

 

                ข้อ 2  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร

                           ใบรับตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค และต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                           (1) ชื่อ ชื่อย่อ หรือยี่ห้อของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งออกใบรับ

                           (2) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งออกใบรับ

                           (3) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

                           (4) หมายเลขลำดับของใบรับ

                           (5) วันเดือนปี และเวลาที่ออกใบรับ เว้นแต่เครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำและได้มาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 ซึ่งไม่สามารถบันทึกเวลาที่ออกใบรับได้

                           (6) ชื่อ ชนิด ประเภท และจำนวนของทองรูปพรรณที่จำหน่าย

                           (7) ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

                           (8) ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ

                           (9) ผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตาม (7) กับราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศตาม (8)

                           (10) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจาก (9)

                           (11) จำนวนเงินที่รับสุทธิรวมภาษีมูลค่าเพิ่มชื่อ ชนิด หรือประเภทของทองรูปพรรณที่จำหน่ายตามวรรคสอง (6) จะบันทึกเป็นรหัสสินค้าก็ได้ แต่ต้องมีรหัสพร้อมคำแปลเก็บไว้ ณ สถานประกอบการที่ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว

 

                ข้อ 3  เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามข้อ 2 จะต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อยดังต่อไปนี้

                           (1) เป็นเครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้า หรือชนิดคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่ไม่รวมถึงเครื่องบันทึกการเก็บเงินชนิดไฟฟ้าที่มีหัวพิมพ์ระบบ Drum Matrix

                           (2) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องใช้กระดาษออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อสินค้า และจะใช้กระดาษขนาดเดียวกันเป็นสำเนาซ้อนกับใบรับตัวจริงก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องเพื่อบันทึกรายการประจำวันไว้ ซึ่งจะใช้เป็นสำเนาใบรับแทนกระดาษซ้อนใบรับก็ได้

                           (3) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถออกใบรับ และสำเนาใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามข้อ 2 เว้นแต่การบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และการบันทึกรายการวันเดือนปีไว้ในสำเนาใบรับ โดยอย่างน้อยต้องสามารถบันทึกเลขรหัสประจำเครื่องและวันเดือนปีไว้ในตอนต้นและตอนท้ายของกระดาษเป็นม้วนต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันของแต่ละวัน โดยสำเนาใบรับจะไม่มีชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียน และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรก็ได้

                           (4) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถออกใบรับที่แสดงหมายเลขลำดับของใบรับ โดยเรียงตามลำดับตัวเลขจนหมดทุกหลักก่อน จึงจะย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้ เว้นแต่กรณีที่จะทำให้ยอดขายสะสมเกินความสามารถของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและทำให้ข้อมูลสูญหาย ก็ให้ออกรายงานการล้างยอดขายสะสมและเริ่มเลขลำดับใหม่ได้ โดยให้หมายเหตุไว้ในม้วนกระดาษต่อเนื่องซึ่งบันทึกรายการประจำวันด้วย

                           (5) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถออกรายงานสรุปรายละเอียดการขายสินค้าประจำวันได้

                           (6) เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องสามารถออกรายงานการล้างยอดขายสินค้าที่ออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงินทุกสิ้นวัน

 

                ข้อ 4  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบรับต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบรับและใบกำกับภาษีตามประมวลรัษฎากรสำหรับกิจการขายทองรูปพรรณตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ แล้วแต่กรณี

                           กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบรับเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ หรือสรรพากรจังหวัด หรือสรรพากรจังหวัด (สาขา) ในท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่

                           ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องยินยอมให้เจ้าพนักงานสรรพากรเข้าไปติดเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องบนเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ณ สถานประกอบการ

 

                ข้อ 5  กรณีเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินตามข้อ 4 ถูกเคลื่อนย้าย ถูกทำลาย สูญหาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ระงับการใช้เครื่อง บันทึกการเก็บเงินดังกล่าว และให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นคำร้องขอรับเครื่องหมายแสดงเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินจากอธิบดีกรมสรรพากรทันที

 

                ข้อ 6  กรณีเครื่องบันทึกการเก็บเงินขัดข้องใช้การไม่ได้ เช่น เครื่องเสียหรือเครื่องขัดข้องชั่วคราว ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องจัดทำใบรับ ตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ด้วยการเขียน โดยจะต้องประทับตราคำว่า “เครื่องขัดข้อง” ไว้ในใบรับที่ออกด้วยการเขียนด้วย

 

                ข้อ 7  กรณีเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้รับอนุมัติให้ออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร สามารถออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรได้ด้วย ให้ถือว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวเพื่อการออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

                           กรณีเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ได้รับอนุมัติให้ออกใบรับตามมาตรา 105 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีความประสงค์จะใช้เครื่อง

                           บันทึกการเก็บเงินดังกล่าวเพื่อออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 8  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 หรือมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี โดยต้องระบุข้อความอื่นไว้ในใบกำกับภาษี ทั้งนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) และมาตรา 86/6(7) แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 9  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องจัดทำรายงานตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 87/1 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 10  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องจัดทำตารางราคาซื้อขายทองรูปพรรณตามประกาศของสมาคมค้าทองคำ โดยมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

 

                ข้อ 11  ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามข้อ 1 ต้องจัดทำป้ายแสดงข้อความว่า “ให้ขอใบกำกับภาษีทุกครั้ง” และวางไว้บนตู้สำหรับขายทองรูปพรรณ ณ สถานประกอบการ ในบริเวณที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่าย

 

                ข้อ 12  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป

 

ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2543

 

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ภาพแบบ   แบบแจ้งการประกอบกิจการขายทองรูปพรรณ (ภ.พ.01.4)

ภาพแบบ   แบบคำขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (ภ.พ.11)

ภาพใบแนบ   ใบแนบ ภ.พ.11

ภาพตาราง   ตารางราคาซื้อขายทองรูปพรรณ

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022