เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3893
วันที่: 22 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
ข้อกฎหมาย : พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
ข้อหารือ            บริษัท ซ. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
           1. บริษัทฯ ประกอบกิจการซื้อมาขายไป และเป็นศูนย์กระจายสินค้า ต่อมา บริษัทฯ ได้ขยายกิจการ จึงได้ก่อสร้างอาคารโรงงานแห่งใหม่ โดยได้ขอใบอนุญาตก่อสร้างเมื่อปี 2560ใช้ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2561
           2. เนื่องจากบริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบทั้งหมดรวมอยู่ในสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกัน แต่ในการบันทึกทรัพย์สินเพื่อหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคานั้น บริษัทฯ ได้มีการแยกส่วนประกอบออกจากกันตามมาตรฐานการบัญชี บริษัทฯ จึงขอหารือดังนี้
                2.1 กรณีบริษัทฯ บันทึกต้นทุนสินทรัพย์แยกกันระหว่างอาคารกับถนน (นอกตัวอาคาร) บริษัทฯ จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในส่วนของถนนตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่ อย่างไร และถ้าหากบันทึกรวมเป็นทรัพย์สินรายการเดียวกัน จะสามารถกระทำได้หรือไม่ และจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 หรือไม่ อย่างไร
                2.2 กรณีบริษัทฯ บันทึกต้นทุนสินทรัพย์แยกกันระหว่างอาคารกับระบบประปาและระบบไฟฟ้า (ในอาคาร) บริษัทฯ จะสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในส่วนของระบบประปาและระบบไฟฟ้าตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาว่าจ้างก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ โดยว่าจ้างให้ทำการก่อสร้างอาคารและส่วนประกอบทั้งหมด (ได้แก่ ถนน (นอกตัวอาคาร) และระบบประปา ระบบไฟฟ้า (ในอาคาร)) ไม่ว่าจะรวมอยู่ในสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกันหรือไม่ก็ตามนั้น พิจารณาสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642)ฯ พ.ศ. 2560 ในส่วนของถนน (นอกตัวอาคาร) และระบบประปา ระบบไฟฟ้า (ในอาคาร) ตามที่บริษัทฯ หารือได้ดังนี้
           1. ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 20 ของมูลค่าต้นทุน ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
          อย่างไรก็ดี เนื่องจากถนนไม่เข้าลักษณะเป็นส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 และไม่เข้าลักษณะเป็นอาคารถาวรตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ดังนั้น รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการก่อสร้างถนนจึงไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
           2. ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบไฟฟ้าและระบบประปาในอาคาร ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
           เนื่องจากระบบไฟฟ้า ระบบประปาในอาคาร เข้าลักษณะเป็นส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ดังนั้น หากการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 2 (1) และข้อ 7 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 บริษัทฯ ย่อมมีสิทธินำรายจ่ายเพื่อการลงทุนในส่วนที่เป็นงานระบบต่างๆ ไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง โดยให้ยกเว้นตามส่วนเฉลี่ยเป็นจำนวนเท่ากันของจำนวนเงินได้ที่ได้รับยกเว้นเป็นเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน และให้เริ่มใช้สิทธิตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ประกอบกับข้อ 4 (1) และข้อ 5 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
เลขตู้: 81/40670

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020