เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3892
วันที่: 22 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
ข้อกฎหมาย : พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
ข้อหารือ            บริษัท บ. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
          1. กรณีบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารก่อนวันที่ 3พฤศจิกายน 2558 แต่การก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จ จึงได้ขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอีกครั้งในปี 2559 บริษัทฯ จะนำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          2. กรณีบริษัทฯ ปรับปรุงและต่อเติมอาคารซึ่งไม่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร เพราะไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสิ่งของตกแต่งและค่าออกแบบอาคาร หากการต่อเติมและตกแต่งนั้นมีการทำสัญญาสั่งจ้างและมีการซื้อสิ่งของตกแต่งในระหว่างวันที่ 3พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่การต่อเติมและตกแต่งอาคารไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 เช่นนี้ จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          3. กรณีบริษัทฯ จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นในปี 2559 แต่มีรายการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องและเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการยื่นคำขอรับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารหลังดังกล่าว หากเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          4. บริษัทฯ จำเป็นต้องซื้อเครื่องจักรที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ โดยเครื่องจักรดังกล่าวยังไม่เคยขายให้แก่บุคคลใดหรือผ่านการใช้งานจริงมาก่อน แต่เคยใช้เป็นสินค้าเพื่อประกอบการแสดงวิธีการใช้งาน (Demonstration Unit) หากบริษัทฯ ได้จัดซื้อและชำระเงินภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด (ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559) จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          5. กรณีเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ เช่น เครื่องตรวจสอบอวัยวะโดยใช้พลังงานจากสนามแม่เหล็ก (MRI) ถือเป็นทรัพย์สินประเภทเครื่องจักร ตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ที่ไม่จำต้องได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ใช่หรือไม่
          6. กรณีบริษัทฯ จัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในปี 2559 แต่ยังไม่นำออกมาใช้งาน เนื่องจากต้องรอการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินส่วนดังกล่าว จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          7. กรณีบริษัทฯ จะทำการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถ และจัดภูมิทัศน์ในโครงการเดียวกัน โดยถือเป็น Land Improvement and Landscape ซึ่งจะต้องมีการเทลานคอนกรีตก่อสร้าง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
          8. กรณีบริษัทฯ ลงทุนติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศและส่งเอกสารทางท่อในอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบโทรคมนาคม และ Networking รวมทั้งระบบวิศวกรรมต่าง ๆ ในอาคาร ซึ่งระบบที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ใช่ตัวอาคารหรืองานโยธา (Civil Work) ของอาคารแต่อย่างใด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ และต้องใช้สิทธิเป็นระยะเวลากี่รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน
          9. ระบบ ERP (เป็นระบบสารสนเทศขององค์กร) และซอฟต์แวร์โปรแกรมที่มีการจัดซื้อในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งต้องมีการติดตั้งและทดสอบระบบก่อนการใช้งาน แต่ไม่สามารถติดตั้งให้แล้วเสร็จทั้งหมดได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย            1. กรณีการลงทุนในทรัพย์สินตาม 1. - 3 และ 7. พิจารณาได้ดังนี้
           1.11ข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 300)ฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวไว้ ดังนี้
          “ทรัพย์สินตามข้อ 1 (1) (2) และ (3) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
          ทรัพย์สินตามข้อ 1 (4) ต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ดังนี้
           (1) ต้องขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
          กรณีขออนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไม่ว่าจะ มีการขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารนั้นหรือไม่ก็ตาม ต้องมีการทำสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามใบอนุญาตดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 หรือ
           (2) ต้องแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
           กรณีแจ้งก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ต้องมีการทำสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 โดยต้องไม่มีการลงทุน หรือต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินตามการแจ้งดังกล่าวไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 หรือ
           (3) กรณีที่ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559.................”
           1.2 จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม 1.1 กรณีบริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 และมีการขอต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้างอีกครั้งหนึ่งในปี 2559 เนื่องจากการก่อสร้างอาคารตามใบอนุญาตที่ได้รับมาก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ยังไม่แล้วเสร็จนั้น ถือได้ว่าบริษัทฯ ได้มีการลงทุนในทรัพย์สินมาแล้วไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนก่อนวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 บริษัทฯ จึงไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
           กรณีบริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงและต่อเติมอาคาร ซึ่งการปรับปรุงและต่อเติมอาคารดังกล่าวไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2528) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 บริษัทฯ จึงไม่ต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตหรือแจ้งการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใดนั้น หากบริษัทฯ จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 รายจ่ายดังกล่าวจะต้องเกิดจากสัญญาจ้าง ใบสั่งจ้างหรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และต้องเป็นการจ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
          กรณีบริษัทฯ ปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถและจัดภูมิทัศน์ในโครงการเดียวกัน ซึ่งถือเป็น Land Improvement and Landscape นั้น แม้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องมีการเทลานคอนกรีตก่อสร้างก็ตาม แต่เนื่องจากทรัพย์สินนั้นไม่เข้าลักษณะเป็นอาคารถาวรตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 และทรัพย์สินดังกล่าวก็ไม่เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่อาจนำรายจ่ายเพื่อการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถและจัดภูมิทัศน์ไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้แต่อย่างใด
          2. กรณีการลงทุนในทรัพย์สินตาม 4. - 6. พิจารณาได้ดังนี้
               2.1 มาตรา 3 วรรคสาม แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 643) พ.ศ. 2560 ได้กำหนดนิยามคำว่าเครื่องจักรไว้ว่า “เครื่องจักร หมายความว่า สิ่งที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนหลายชิ้นสำหรับใช้ก่อกำเนิดพลังงาน เปลี่ยน หรือแปลงสภาพพลังงาน หรือส่งพลังงาน ทั้งนี้ ด้วยกำลังน้ำ ไอน้ำ เชื้อเพลิง ลม ก๊าซ ไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน และหมายความรวมถึงเครื่องอุปกรณ์ ไฟลวีล ปุลเล สายพาน เพลา เกียร์ หรือสิ่งอื่นที่ทำงานสนองกัน แต่ไม่รวมถึงยานพาหนะที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้น ๆ” และมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้กำหนดลักษณะของทรัพย์สินที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 ไว้ กล่าวโดยสรุป คือ จะต้องเป็นทรัพย์สินที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และเป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องจักรและอาคารถาวรที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ก็ได้ ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 270)ฯ ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้กำหนดเงื่อนไขของรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว คือ จะต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้น แล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559
               2.2 จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายตาม 2.1 หากบริษัทฯ ได้จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งมีลักษณะเป็นเครื่องจักรตามบทนิยามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยได้จัดซื้อในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่กล่าวใน 2.1 แล้ว รายจ่ายที่ได้จ่ายไปเพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ย่อมใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้
          อย่างไรก็ดี หากอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้นเคยใช้เป็นสินค้าตัวอย่างแสดงวิธีการใช้งาน (Demonstration Unit) ในงานแสดงสินค้าต่าง ๆ มาก่อน กรณีย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว ดังนั้น แม้บริษัทฯ จะได้จัดซื้อเครื่องจักรที่เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์และชำระเงินภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด (ตั้งแต่วันที่ 3พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559) ก็ไม่สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้
          3. กรณีการลงทุนในทรัพย์สินตาม 8. นั้น เนื่องจากระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศและส่งเอกสารทางท่อในอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบโทรคมนาคม และ Networking รวมทั้งระบบวิศวกรรมต่าง ๆ ในอาคาร ไม่ใช่ตัวอาคารหรืองานโยธา (Civil Work) ของอาคาร จึงไม่เข้าลักษณะเป็นอาคารถาวรตามมาตรา 3 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ดี หากทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินตามมาตรา 3 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 และบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266 )ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าว ย่อมใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบกับข้อ 3 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559
          4. กรณีการลงทุนในทรัพย์สินตาม 9. เนื่องจากมาตรา 4 (2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 กำหนดลักษณะของทรัพย์สินที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวไว้ สรุปความได้ว่า จะต้องเป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แหงประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 และข้อ 2 วรรคหนึ่ง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 270)ฯ ลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ได้กำหนดเงื่อนไขของรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ไว้ คือ จะต้องเกิดจากการลงทุน หรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกิดขึ้นจากสัญญา ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง หรือข้อตกลงในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งสิ้นแล้วแต่กรณี ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ดังนั้น กรณีบริษัทฯ จัดซื้อระบบ ERP และซอฟต์แวร์โปรแกรมในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 แต่ไม่สามารถติดตั้งระบบทั้งหมดให้แล้วเสร็จให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้การได้ตามประสงค์ได้ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ บริษัทฯ จึงไม่สามารถนำรายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สินดังกล่าวไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559
เลขตู้: 81/40669

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020