เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3895
วันที่: 22 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
ข้อกฎหมาย : พระราชกฏษฎีกา ( ฉบับที่ 642) พ.ศ.2560
ข้อหารือ            บริษัท จ. จำกัด (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
           1 บริษัทฯ ประกอบธุรกิจซื้อขาย ให้บริการเกี่ยวกับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ได้ทำสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท อ. จำกัด (ผู้ให้เช่า) เพื่อใช้เป็นที่ตั้งสำนักงาน มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิที่จะต่ออายุสัญญาเช่าไปอีก 3 ปี หรือส่งมอบสถานที่เช่าในสภาพเดิมให้แก่ผู้ให้เช่า
           2.บริษัทฯ ได้ว่าจ้างบริษัท พ. ให้ตกแต่งพื้นที่ภายในสำนักงานที่เช่าตาม 1. โดยมีข้อตกลงดังต่อไปนี้
                2.1 งานที่ต้องดำเนินการมีดังนี้
               (1) งานรื้อถอนสิ่งตราตรึงทั้งหมดออก พร้อมขนขยะทิ้ง
               (2) งานติดตั้งฝ้าเพดาน ผนังเบา ผนังตกแต่ง ผนังกระจก
               (3) งานเดินท่อร้อยสาย งานระบบวิศวกรรมบนฝ้าเพดาน บนผนัง บนพื้น
               (4) งานติดตั้งท่อลมแอร์บนฝ้าเพดาน
               (5) งานติดตั้ง Built-in ติดตั้งงานตกแต่งผนัง กระเบื้องผนัง กระเบื้องพื้น
               (6) งานติดตั้งหัวจ่ายลมเย็น หัวจ่ายลมกลับ บนฝ้าเพดาน
               (7) งานติดตั้งสุขภัณฑ์ ติดตั้งดวงโคมไฟ ติดตั้งประตู ช่องแสง
               (8) งานติดตั้งป้ายชื่อบริษัท และงานกราฟฟิคต่าง ๆ
               (9) งานทำความสะอาดใหญ่ก่อนส่งมอบงาน
               (10) การตรวจรับส่งมอบงานระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง
           2.2 ระยะเวลาการดำเนินงาน
          ใช้เวลาทั้งสิ้น 103 วัน นับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2560 การชำระเงินมีกำหนดจ่ายเป็นงวด ๆ ดังนี้
           2.3 กำหนดเวลาการจ่ายเงินค่าจ้างแบ่งเป็น 5 งวด
               (1) งวดที่ 1 (มัดจำ) คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่างานตามสัญญา เมื่อเซ็นสัญญาอนุมัติเพื่อเริ่มดำเนินการ (บริษัทฯ ชำระด้วยเช็คในวันที่ 2 มิถุนายน 2560)
               (2) งวดที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่างานตามสัญญา เมื่อบริษัทฯ ผู้ว่าจ้างได้เอกสารอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างจากเจ้าของอาคาร (บริษัทฯ ชำระด้วยเช็คในวันที่ 30 มิถุนายน 2560)
               (3) งวดที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่างานตามสัญญา เมื่อผู้ว่าจ้างได้ตรวจรับงานงวดที่ 3 แล้ว (บริษัทฯ ชำระด้วยเช็คในวันที่ 11 สิงหาคม 2560)
               (4) งวดที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่างานตามสัญญา เมื่อผู้ว่าจ้างได้ตรวจรับงานงวดที่ 4 แล้ว (บริษัทฯ ชำระด้วยเช็คในวันที่ 8 กันยายน 2560)
               (5) งวดที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่างานตามสัญญา เมื่อผู้ว่าจ้างได้ตรวจรับงานงวดที่ 5 แล้ว (ในวันที่บริษัทฯ มีหนังสือหารือ ผู้รับจ้างยังไม่ได้เรียกเก็บค่าจ้าง)
          3.บริษัทฯ ได้หารือว่า ค่าตกแต่งภายในที่บันทึกเป็นทรัพย์สินทางบัญชีและตัดค่าเสื่อมราคาตามที่กฎหมายกำหนดแล้วยังสามารถนำมาถือเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้อีกเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่การซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย            กรณีบริษัทฯ ดำเนินการตกแต่งภายในสำนักงานของบริษัทฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เช่านั้น หากการตกแต่งดังกล่าวเป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินและก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี รายจ่ายที่จ่ายไปเพื่อการนั้นย่อมถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และหากรายจ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปเพื่อการตกแต่งภายในตามข้อเท็จจริงข้างต้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 304)ฯ ลงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 บริษัทฯ ย่อมใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี กรณีสัญญาเช่าพื้นที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่า 3 ปี และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลง บริษัทฯ มีสิทธิที่จะต่ออายุสัญญาออกไปอีกหรือไม่ก็ได้นั้น หากบริษัทฯ เลือกที่จะไม่ต่ออายุสัญญาเช่า สิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ย่อมสิ้นสุดลงนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยบริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก เนื่องจากกรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะกรณีบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560 ทั้งนี้ ตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 642) พ.ศ. 2560
เลขตู้: 81/40672

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020