เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3519
วันที่: 3 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40(1) มาตรา 40(5) และมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ราย นาย A. และนาย B. โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
           1. นาย A.นาย B. มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน คนละ 1 ส่วน ใน 3 ส่วน (จากการให้ของนาย C. บิดาของนาย A และ นาย B ต่อมานาย C. ถึงแก่ความตาย นาย A. และนาย B. จึงได้รับมรดกเฉพาะส่วนของนาย C. โดยนาย A. และนาย B. ได้ทำสัญญาให้บริษัท ก. จำกัด เช่าที่ดินแปลงดังกล่าว มีกำหนดระยะเวลา 21 ปี นับแต่วันที่ 22 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 21 กันยายน 2580 จ่ายชำระค่าเช่ารายปีและ เงินค่าเช่าล่วงหน้า
           2. บริษัท ก. จำกัด ได้จ่ายชำระค่าเช่าและออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ให้กับนาย A. และนาย B.คนละกึ่งหนึ่งขงเงินค่าเช่าและเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่ได้นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.3) ในนามนาย B. เพียงผู้เดียว สำหรับค่าเช่าและภาษีหัก ณ ที่จ่ายเต็มจำนวน
           3. นาย A. และนาย B. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90
           นาย A. สำหรับปีภาษี 2559 แสดงเงินได้พึงประเมินประเภทเงินเดือน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และค่าเช่าที่ดิน ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เมื่อคำนวณแล้ว มีภาษีชำระไว้เกิน และยื่นแบบ ภ.ง.ด.93 ปีภาษี 2559 ถึงปีภาษี 2580 แสดงเงินได้พึงประเมินประเภทค่าเช่าที่ดิน (ค่าเช่าล่วงหน้า) ตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากรพร้อมภาษีที่ชำระ
          4. นาย A และ นาย B. ขอหารือว่า
               4.1 กรณีการให้เช่าที่ดินตามสัญญาเช่าระบุชื่อผู้ให้เช่า คือ นาย A. และนาย B. ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวมีชื่อนาย A. และนาย B. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม เงินได้จากการให้เช่าที่ดินถือเป็นเงินได้ของบุคคลธรรมดาหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
               4.2 หากรายได้จากการให้เช่าที่ดินดังกล่าว ต้องยื่นในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ ภาษีที่ชำระไว้ตามแบบ ภ.ง.ด.93 ในนามบุคคลธรรมดา สามารถนำมาเป็นเครดิตในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญได้หรือไม่
แนววินิจฉัย            1. กรณีนาย A. และนาย B. ได้นำที่ดินและนาย B. ให้บริษัทฯ เช่านั้น แต่เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของนาย C.บิดาของนาย A.และนาย B. ต่อมานาย C. ได้แบ่งให้นาย A. และนาย B. ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยให้ถือกรรมสิทธิ์ คนละ 1 ส่วน ใน 3 ส่วน เมื่อนาย C. ถึงแก่ความตาย นาย A. และนายฺ B. จึงได้รับมรดกในส่วนของนาย C. แต่เนื่องจากในโฉนดที่ดินมิได้มีการจดทะเบียนบรรยายส่วนของแต่ละคนไว้ นาย A. และนาย B. จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินร่วมกัน การที่นาย A. และนาย B. ทำสัญญาให้บริษัทฯ เช่าที่ดินแปลงดังกล่าว จึงถือว่า เป็นการนำอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกให้เช่าเพื่อประสงค์แบ่งปันกำไรอันพึงได้จากกิจกรรมที่ทำนั้นเข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รายได้ค่าเช่าถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร โดยคำนวณภาษีตามมาตรา 48แห่งประมวลรัษฎากร
           2. กรณีนาย A. และนาย B. ไม่ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับเงินได้จากการให้เช่าที่ดินสัญญาเช่าฉบับดังกล่าวในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่นาย A. และนาย B. ได้นำเงินได้จากการเช่าที่ดินเฉพาะส่วนของตนเองไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนามของตนเองนั้น ถือได้ว่า เป็นการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผิดหน่วยภาษี ดังนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในนาม ห้างหุ้นส่วนสามัญใหม่พร้อมกับเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และห้างหุ้นส่วนสามัญไม่มีสิทธินำภาษีอากรที่ได้ชำระในนามของนาย A. และนาย B. มาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระตามแบบ ภ.ง.ด.90 ของห้างหุ้นส่วนสามัญได้
           3. กรณีนาย A. และนาย B. ได้รับส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญเงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวเป็นเงินที่ได้รับจากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมอันได้มา โดยทางมรดกหรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา ได้รับยกเว้นตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 309 (พ.ศ. 2558) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร นาย A. และนาย B. จึงไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
          4. กรณีบริษัทฯ ชำระเงินค่าเช่าให้นาย A. และนาย B. คนละกึ่งหนึ่งของค่าเช่า และได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของนาย A. และนาย B. คนละกึ่งหนึ่งของเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย แต่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด.3) ในนามของนาย A. เพียงผู้เดียว จึงเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผิดหน่วยภาษี บริษัทฯ สามารถยื่นขอแก้ไขแบบ ภ.ง.ด.3 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ
เลขตู้: 81/40647

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020