เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3802
วันที่: 17 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคารายการที่ออกอากาศทางทีวีดิจิตอล
ข้อกฎหมาย : มาตรา 65 ทวิ (2) พระราชกฤษฎีกา ( ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527
ข้อหารือ            บริษัท จ. จำกัด และบริษัท อ. จำกัด (บริษัทฯ ทั้งสอง) ดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอล มีรายได้จากค่าโฆษณาระหว่างการออกอากาศของรายการต่างๆ ซึ่งเนื้อหาหรือรายการที่บริษัทฯ ทั้งสองใช้สำหรับการออกอากาศในช่องรายการที่ได้รับใบอนุญาตนั้น มีทั้งแบบที่บริษัทฯ ทั้งสองผลิตเอง แบบจ้างให้บุคคลอื่นผลิตให้ และแบบซื้อสิทธิในการออกอากาศ (Broadcasting rights) จากบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของ โดยบริษัทฯ ทั้งสองได้บันทึกบัญชีรายการต่างๆ ที่ใช้ออกอากาศนั้นเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ บริษัทฯ ทั้งสองจึงขอทราบดังนี้
           1.กรณีรายการที่ออกอากาศเป็นรายการที่บริษัทฯ ทั้งสองผลิตเอง และว่าจ้างให้บุคคลอื่นผลิตให้นั้น จะถือเป็นทรัพย์สินอย่างอื่นตามมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หรือไม่
           2. บริษัทฯ ทั้งสองจะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของรายการที่ออกอากาศทางทีวีดิจิตอล โดยเลือกใช้วิธีการทางบัญชีตามความสอดคล้องกับสภาพการใช้ทรัพย์สินได้หรือไม่
แนววินิจฉัย            1. กรณีรายจ่ายต่างๆ ที่บริษัทฯ ทั้งสองได้จ่ายไปเพื่อให้ได้มาซึ่งรายการสำหรับออกอากาศในช่องทีวีดิจิตอลที่บริษัทฯ ทั้งสองได้รับอนุญาตนั้น หากเป็นรายการที่บริษัทฯ ผลิตเอง หรือว่าจ้างให้บุคคลอื่นผลิตให้ ไม่ว่าจะทำการออกอากาศกี่ครั้ง กรรมสิทธิ์ในรายการที่ออกอากาศนั้น ก็ยังคงเป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ อยู่ และโดยสภาพแล้วทรัพย์สินประเภทนี้ใช้งานได้เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี รายจ่ายต่างๆ เพื่อการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ให้นำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
           กรณีรายการที่ออกอากาศเป็นรายการที่บริษัทฯ ทั้งสองซื้อสิทธิในการออกอากาศ (Broadcasting rights) จากบุคคลอื่นที่เป็นเจ้าของ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอายุการใช้ประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี เมื่อบริษัทฯ ทั้งสองได้จ่ายเงินไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการนำรายการอันมีลิขสิทธิ์ไปออกอากาศ รายจ่ายดังกล่าว ย่อมถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ให้นำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
           2. ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินตาม 1. นั้น บริษัทฯ ทั้งสองจะต้องหักตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา และต้องหักต่อไปทุกรอบระยะเวลาบัญชี ไม่ว่าจะดำเนินการมีกำไรหรือขาดทุนก็ตาม ถ้าไม่ได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะยกยอดไปหักในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นไม่ได้ และในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินนั้น เมื่อบริษัทฯ ทั้งสองได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปและอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527
เลขตู้: 81/40662

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020