เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: 0702/3518
วันที่: 3 พฤษภาคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 40 (5) (ก) มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ            1.นาย ก.ฯ และนาย ข. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนด ได้ให้บริษัท ค. เช่าที่ดินดังกล่าวมีกำหนด ปี เริ่มตั้งแต่วันจดทะเบียนการเช่าวันที่ 17 กันยายน 2558โดยคิดค่าตอบแทนการเช่าแบ่งเป็นค่าสิทธิการเช่า (ค่าเช่าล่วงหน้า) จำนวน 56,000,000 บาท และค่าเช่าตลอดอายุสัญญาเช่าจำนวน 70,218,410.70 บาท
           2. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2558 นาย ก. ได้รับเงินค่าสิทธิการเช่าจากบริษัทฯ จำนวน 28,000,000 บาท และวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ได้นำเงินได้ดังกล่าวมายื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.93 สำหรับปีภาษี 2559 ถึงปีภาษี 2558 รวม 30 ฉบับ พร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 สำหรับปีภาษี 2558 โดยระบุว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 271,050.23 บาท และมีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 1,400,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว มีเงินภาษีที่ได้ชำระไว้เกินและแจ้งความประสงค์ขอคืนเป็นจำนวน 1,400,000 บาท
           3. ที่ดินที่นาย ก. และนาย ข. ร่วมกันให้บริษัทฯ เช่านี้ ได้มาด้วยการยกให้โดยเสน่หา โดยมีการทำหนังสือสัญญาให้ที่ดินและจดทะเบียนการให้ไว้ในโฉนดที่ดิน นาย ก. และนาย ข. ได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินตามสัญญาให้ (บันทึกข้อตกลงฯ) แต่หนังสือสัญญาให้ที่ดินมิได้มีการระบุให้ถือเอาบันทึกข้อตกลงฯ เป็นเอกสารแนบท้ายหรือเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือสัญญาให้ที่ดิน ทั้งไม่ปรากฏว่า ได้มีการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินแบ่งแยกที่ดินตามรายละเอียดที่ตกลงกันไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว
แนววินิจฉัย            กรณีที่นาย ก. และนาย ข. ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน ด้วยนิติกรรมการให้จาก และนาย ก. กับนาย ข. ได้ตกลงแบ่งส่วนที่ดินกันคนละครึ่ง โดยกำหนดให้แต่ละคนมีสิทธิถือครองที่ดินตามส่วนที่ตกลงกัน ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการบรรยายส่วนที่ดินซึ่งไม่ว่าจะได้มีการจดทะเบียนประเภทบรรยายส่วนไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่ก็ตามก็ไม่ถือว่าเป็นการแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม นาย ก. และนาย ข. จึงยังเป็นเจ้าของรวมในที่ดิน การให้เช่าที่ดินนั้นต้องถือว่าเป็นการนำทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมออกให้เช่าเพื่อประสงค์แบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น เข้าลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามมาตรา 1012 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รายได้ค่าเช่าจึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของห้างหุ้นส่วนสามัญ ตามมาตรา 56 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40666

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020