ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข สำหรับการนำเข้าหรือการขายทองคำ เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณ หรือของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
---------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 311) พ.ศ. 2540 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 367) พ.ศ. 2543 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการนำเข้าหรือการขายทองคำ เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้
"ข้อ 1 ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ที่มีความประสงค์จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มจากการ นำเข้าหรือการขายทองคำ เฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณต้องแจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แจ้งการประกอบกิจการค้าทองคำเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ ไม่ว่า ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวจะได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันหรือไม่ก็ตาม โดยยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่"
( แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )
ข้อ 2 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่แจ้งความประสงค์ตามข้อ 1 จะต้องเป็นผู้นำเข้าหรือขายทองคำเฉพาะที่ยังมิได้ประกอบขึ้นเป็นทองรูปพรรณหรือของรูปพรรณโดยทองคำดังกล่าวต้องมีน้ำหนักเนื้อทองไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5
ข้อ 3 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่แจ้งความประสงค์ตามข้อ 1 และมีการนำเข้าหรือขายทองคำตามข้อ 2 จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานดังนี้
(1) กรณีเป็นผู้นำเข้า จะต้องแสดงเอกสารหรือหลักฐานเกี่ยวกับการนำเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ในเวลายื่นใบขนสินค้าเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร และ จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานจากผู้ขายในต่างประเทศว่า ผู้นำเข้าเป็นผู้ซื้อทองคำดังกล่าวจากผู้ขายในต่างประเทศ
(2) กรณีเป็นผู้ขายทองคำ จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงการเป็นสมาชิกของสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการค้าทองคำหรืออัญมณี สมาคมใดสมาคมหนึ่ง
เอกสารหรือหลักฐานตาม (1) และ (2) จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ สถานประกอบการของผู้ประกอบการจดทะเบียนพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้
ข้อ 4 ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่แจ้งความประสงค์ตามข้อ 1 จะต้องจัดทำรายงานค้าทองคำตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้
ข้อ 5 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2543
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร