เมนูปิด

           บริษัท ก. และบริษัท ข. เป็นบริษัทจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเหล็กทุกประเภท ต้องการควบกิจการระหว่างกัน ซึ่งบริษัททั้งสองฯ มีความเข้าใจว่า การควบรวมกิจการจะมีผลให้บริษัททั้งสองฯ สิ้นสภาพนิติบุคคล และเกิดเป็นบริษัทใหม่ขึ้นมาแทน โดยบริษัทใหม่ย่อมได้ไปทั้งสิทธิ และความรับผิดบรรดาที่มีอยู่แก่บริษัทเดิม อันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น ตามมาตรา 1243 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่ควรได้รับมาทั้งสิทธิและความรับผิดของบริษัททั้งสองฯ ที่ควบกัน โดยหมายความรวมถึงสิทธิในการใช้ภาษีซื้อชำระไว้เกินในเดือนที่ควบกิจการของบริษัท ข. ด้วย

บริษัททั้งสองฯ จึงขอหารือว่า ภาษีซื้อที่บริษัท ข. ได้ชำระไว้เกินและคงเหลืออยู่ ณ วันที่ควบกิจการ บริษัทที่เกิดขึ้นใหม่มีสิทธิจะนำไปหักออกจากภาษีขายในเดือนถัดไปได้ ใช่หรือไม่

           ตามมาตรา 85/14 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นนิติบุคคลใดประสงค์จะควบเข้ากัน ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น แจ้งการเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 ตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้นิติบุคคลใหม่ซึ่งได้ควบเข้ากันยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่” ดังนั้น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระไว้เกินในเดือนที่ควบกิจการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประสงค์จะควบเข้ากัน ย่อมมิใช่เครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีจากการคำนวณภาษีตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ประกอบการจดทะเบียนใหม่ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ได้ควบเข้ากัน ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระเกินยกมา

ของผู้ประกอบการจดทะเบียนเดิมก่อนควบเข้ากัน เพื่อนำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือขอคืนภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียนใหม่ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ได้ควบเข้ากันแต่อย่างใด

เลขที่หนังสือ: 0702/พ.2539 วันที่: 27 มีนาคม 2561 เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีภาษีซื้อจากการควบกิจการ ข้อกฎหมาย : มาตรา 84 มาตรา 85/14 และมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 81/40610

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020