เมนูปิด

           บริษัท จ จำกัด (บริษัทฯ) หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยในการใช้พาหนะในการเดินทาง และอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางในราชอาณาจักรของพนักงานที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า บริษัทฯ มีการจ่ายเงินชดเชยในการใช้พาหนะในการเดินทาง และอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางในราชอาณาจักรของพนักงานที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตามอัตราดังต่อไปนี้


           รถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 9 บาท


           รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 5 บาท


           ค่าอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ไม่ค้างคืน 200 บาท


           ค่าอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ค้างคืน 400 บาท


           ผลตอบแทนข้างต้น บริษัทฯ ได้นำไปคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่พนักงานทั้งจำนวน และ

หักภาษี ณ ที่จ่าย ทำส่งสรรพากรตลอดทุกปีภาษีที่ผ่านมา


           บริษัทฯ จึงขอหารือว่า บริษัทฯ จะคำนวณยกเว้นโดยใช้อัตราข้างต้นหักกับอัตราของทางราชการตามประกาศ ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปช่วยราชการ พ.ศ. 2550 และหลักเกณฑ์การเบิกค่าพาหนะรับจ้างข้ามเขตจังหวัด เงินชดเชย และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นต้องจ่ายเนื่องในการเดินทางไปราชการก่อน ค่อยนำไปเป็นเงินได้และหักภาษี ณ ที่จ่ายได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น

ค่ารถยนต์ส่วนตัว กิโลเมตรละ 9 บาท จะหักกิโลเมตรละ 4 บาท อัตราในการเดินทางไปราชการก่อน ซึ่งจะคงเหลือกิโลเมตรละ 5 บาท แล้วจึงค่อยนำ 5 บาท ไปคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่พนักงานในการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ใช่หรือไม่ อย่างไร

           กรณีที่บริษัทฯ จ่ายค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางให้แก่พนักงานของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และการจ่ายเงินได้เป็นการจ่ายเนื่องจากไปปฏิบัติงานนอกสถานที่เป็นครั้งคราว จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเข้าลักษณะดังนี้


          1. ต้องเป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น


          2. ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในอัตราไม่เกินอัตราค่าสูงสุดที่ทางราชการกำหนดจ่ายให้แก่ข้าราชการ ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการในประเทศหรือต่างประเทศ แล้วแต่กรณี ตามหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายในลักษณะเหมาจ่าย ให้ถือว่าค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางดังกล่าวเป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางซึ่งบุคคลดังกล่าวได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น โดยไม่ต้องมีหลักฐานการจ่ายเงินมาพิสูจน์


          3. ในกรณีบุคคลดังกล่าวได้รับค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางในอัตราเกินกว่าอัตราตาม 2. และบุคคลดังกล่าวไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ว่าได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น ให้ถือว่าค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางดังกล่าวเป็นค่าพาหนะเหมาจ่ายหรือค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางซึ่งบุคคลนั้นได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเพียงเฉพาะในส่วนที่ไม่เกินอัตราตาม 2.

การเดินทางไปปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตาม 1. 2. และ 3. ต้องมีหลักฐานการได้รับอนุมัติให้เดินทางไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานหรือนอกสถานที่จากนายจ้างหรือผู้จ่ายเงินได้โดยต้องระบุลักษณะงานที่ทำและระยะเวลาปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้วแต่กรณีด้วย

เลขที่หนังสือ: 0702/1831 วันที่: 2 มีนาคม เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินชดเชยในการใช้พาหนะในการเดินทาง และอัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ข้อกฎหมาย : มาตรา 42 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 81/40578

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020