เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./1064
วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 (1) มาตรา 78/1 (1) และ มาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

         1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการทางบัญชี จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2554 บริษัทฯ บันทึกบัญชีรับรู้รายได้และรายจ่ายตามเกณฑ์คงค้างและเกณฑ์สิทธิ์เพื่อการคำนวณกำไรสุทธิ เมื่อปี 2554 บริษัทฯ บันทึกรายได้จากการให้บริการทางบัญชีเป็นเงินทั้งสิ้น 470,850 บาท แต่บริษัทฯ ไม่สามารถเรียกเก็บเงินจากลูกค้าได้เป็นเงินจำนวน 62,000 บาท จึงบันทึกบัญชีตั้งค้างไว้ และปี 2555 บริษัทฯ บันทึกรายได้จากการให้บริการทางบัญชีเป็นเงินทั้งสิ้น 1,250,320 บาท ไม่สามารถเรียกเก็บจากลูกค้าได้เป็นเงินจำนวน 96,000 บาท บริษัทฯ บันทึกบัญชีตั้งค้างไว้ บริษัทฯ มีรายรับในปี 2554 และ 2555 ในแต่ละปีไม่เกิน 1,800,000 บาท
         2. ต่อมาในปี 2556 บริษัทฯ มีรายรับจากการให้บริการทางบัญชีเป็นเงิน 1,790,200 บาท ได้รับชำระหนี้ค้างชำระของปี 2554 จำนวน 62,000 บาท และของปี 2555 จำนวน 96,000 บาท บริษัทฯ จึงมีรายรับในปี 2556 เกินกว่า 1,800,000 บาท แต่บริษัทฯ ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจว่าผู้ประกอบการมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1,800,000 บาท ต่อปี ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 นั้น คำว่า “ปี” พิจารณาจากรอบระยะเวลาบัญชีของนิติบุคคลที่ได้บันทึกบัญชีหนี้ค้างชำระในปี พ.ศ. 2554 และ 2555 ซึ่งได้ลงบันทึกบัญชีแล้ว ไม่ใช่รายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีรายได้ในปี 2556 ไม่เกิน 1,800,000 บาท บริษัทฯ จึงไม่ต้อง จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด จึงหารือว่า ความเห็นดังกล่าวถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการทางบัญชีเข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ถือเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ได้มีการออกใบกำกับภาษีหรือได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ ก็ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วยตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มีการให้บริการทางบัญชีในปี 2554 และปี 2555 แต่บริษัทฯ ได้รับชำระค่าบริการดังกล่าวในปี 2556 รวมจำนวนทั้งสิ้น 158,000 บาท ซึ่งเมื่อรวมกับรายรับที่เกิดจากการให้บริการในปี 2556 จำนวน 1,790,200 บาทแล้ว ทำให้บริษัทฯ มีรายรับในปี 2556 จำนวน 1,948,200 บาท ซึ่งเกินกว่า 1,800,000 บาท อันเป็นมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 432) พ.ศ. 2548 บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้:81/40572

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020