เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./879
วันที่: 31 มกราคม 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

         1. บริษัทฯ เช่าที่ดินเปล่าจากผู้ถือหุ้นสัญญาเช่ามีกำหนด 3 ปี ได้ทำการพัฒนาที่ดิน โดยดำเนินการถมดิน ปรับปรุงพื้นผิว และสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำออกให้เช่าประกอบกิจการ เช่น ร้านอาหารภัตตาคาร ค้าขายผักและผลไม้ เป็นต้น โดยใช้ชื่อโครงการ (โครงการฯ) บริษัทฯ จึงเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าที่ดินและทรัพย์สินที่ปลูกสร้างตามสัญญาเช่าดังกล่าว
         2. บริษัทฯ ได้ทำสัญญากับผู้เช่าเพื่อให้เช่าทรัพย์สินในโครงการฯ เพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า และผู้เช่าตกลงจ่ายค่าเช่าเป็นการตอบแทนการให้เช่าแก่บริษัทฯ โดยทรัพย์สินที่บริษัทฯ ปลูกสร้างและนำออกให้เช่าแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
                   2.1 สิ่งปลูกสร้างแบบอาคารเป็นหลัง แบ่งเป็นห้อง แต่ละห้องมีผนังและประตูปิด – เปิด
                   2.2 สิ่งปลูกสร้างในอาคารซึ่งสร้างติดอยู่กับที่ดินแบบเป็นล็อก จัดแบ่งเป็นโซน เช่น โซนผักผลไม้ แต่ละล็อกมีหมายเลขกำกับและมีพื้นที่แบ่งล็อกชัดเจน มีโครงสร้างมั่นคง ถาวร มีความสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีประตูปิด – เปิด เข้า – ออก บุคคลภายนอกไม่สามารถเดินผ่านเข้า – ออก ด้านล่างสามารถเก็บของได้
         3. บริษัทฯ และผู้เช่าได้ตกลงทำสัญญาเช่าทรัพย์สิน โดยกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย สรุปได้ ดังนี้
                   3.1 สัญญาเช่าทรัพย์สินมีกำหนดระยะเวลาและค่าตอบแทนการเช่า
                   3.2 ผู้เช่าสามารถเข้า – ออก ทรัพย์สินที่เช่า ได้ในเวลาใดๆ
                   3.3 ผู้เช่าสามารถตกแต่งทรัพย์สินที่เช่า ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองหรือตามที่จะตกลงกับผู้ให้เช่า
                   3.4 ผู้เช่ามีหน้าที่ในการดูแลรักษาความสะอาดทรัพย์สินที่เช่าเอง รวมถึงค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการนั้น
                   3.5 ผู้เช่าจะต้องดูแลและซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่า ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเอง
                   3.6 ผู้เช่าต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยของทรัพย์สินเอง
                   3.7 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของผู้ให้เช่าฯ มีหน้าที่ดูแลการจราจร และความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโครงการฯ เท่านั้น ไม่มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของผู้เช่าแต่อย่างใด
                   3.8 ผู้ให้เช่าฯ ไม่ต้องรับผิดชอบในความสูญหายหรือเสียหายในทรัพย์สินของผู้เช่า
                   3.9 ผู้ให้เช่าฯ หรือตัวแทนของบริษัทฯ จะเข้าไปในทรัพย์สินที่เช่าได้ ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากผู้เช่า
                   3.10 ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบ ดูแลสินค้าหรือทรัพย์สินใดๆ ของผู้เช่าเพียงฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเกิดกรณีสูญหายหรือถูกโจรกรรม ลักทรัพย์ ยักยอก หรือเหตุสุดวิสัย หรือเหตุใดๆ ก็ตาม ผู้เช่าไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใดๆ จากผู้ให้เช่าฯ
         4. บริษัทฯ ได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้เช่า โดยให้ผู้เช่าได้รับหรือได้ใช้ประโยชน์จาก ทรัพย์สินที่เช่าแล้วในวันทำสัญญา จึงขอหารือว่า รายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าว เป็นรายได้จากการให้เช่า อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย          กรณีบริษัทฯ ได้ตกลงให้เช่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาเช่า ซึ่งสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมีลักษณะติดตรึงแน่นหนา มั่นคง กับที่ดินเป็นการถาวร เพื่อให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่เช่า โดยสัญญาเช่ามีกำหนดระยะเวลาและบริษัทฯ ได้รับค่าตอบแทนจากการเช่า หากบริษัทฯ ได้ส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินที่เช่าให้กับผู้ให้เช่า การให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40562

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020