เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./131
วันที่: 9 มกราคม 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีใช้ใบกำกับภาษีขายและใบกำกับภาษีซื้อที่ระบุชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไม่ตรงตามที่จดทะเบียนหรือเปลี่ยนแปลงไว้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 86/4 (2) (3) (8) มาตรา 82/3 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และ ข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)
ข้อหารือ

         1. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. (หจก. ก.) (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ก. จำกัด” จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 (เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร) 1234 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ A กทม. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ประกอบกิจการขายส่งเครื่องจักร
         2. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 หจก. ก. ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดต่อ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ชื่อ บริษัท ก. จำกัด สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ B เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 บริษัทฯ ยื่นแบบคำขอแจ้งการเปลี่ยนแปลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามประมวลรัษฎากร (ภ.พ.09) แจ้งการแปรสภาพกิจการต่อสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก. (สท.กรุงเทพมหานคร ก.) ต่อมา เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งย้ายสถานประกอบการต่างหน่วยจดทะเบียน ย้ายออกต่อ สท.กรุงเทพมหานคร ก. และเมื่อวันที่ ข. กันยายน 2559 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งย้ายเข้าต่อ สท.กรุงเทพมหานคร ข. เดิมอยู่เลขที่ A กทม. ย้ายไปอยู่เลขที่ B
         3. ช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2559 บริษัทฯ ใช้ชื่อ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และที่อยู่เดิมในการออกเอกสารใบกำกับภาษีซื้อและใบกำกับภาษีขาย ดังนี้
         เอกสารที่ออก
                   ชื่อ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก.
                   ที่อยู่ A กทม.
                   เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 1234
         ที่ถูกต้อง
                   ชื่อ บริษัท ก. จำกัด
                   ที่อยู่ A กทม
                   เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 4321
         4. บริษัทฯ ได้ทำหนังสือถึง สท.กรุงเทพมหานคร 27 ขออนุโลมและชี้แจงกรณีที่บริษัทฯ ใช้เอกสารสำคัญที่มีชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรไม่ถูกต้อง ฉบับลงวันที่ 5 มกราคม 2560 โดยให้เหตุผลว่า บริษัทฯ เข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร และหากต้องมีการแก้ไขเอกสารจะสร้างความเดือดร้อนให้กับคู่ค้าของบริษัทฯ เกี่ยวกับการใช้ชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพราะต้องแก้ไขเอกสารจำนวนทั้งสิ้น 628 ฉบับ จำนวนคู่ค้า 399 ราย

แนววินิจฉัย          1. กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีระบุชื่อและเลขประจำตัวภาษีอากรเดิม คือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 1234 ที่อยู่ A กทม” ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 ก่อนบริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.09 แจ้งการแปรสภาพกิจการและเลขทะเบียนนิติบุคคล ต่อ สท.กรุงเทพมหานคร ก.เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ออกดังกล่าวเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อถูกต้องตามชื่อที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4 (2) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว เนื่องจากชื่อเดิมของบริษัทฯ ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง
         2. กรณีบริษัทฯ ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงชื่อเป็น “บริษัท ก.จำกัด” และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเป็น “4321” ต่อ สท.กรุงเทพมหานคร ก. เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2559 โดยยังมิได้แจ้งย้ายที่อยู่ของสถานประกอบการต่อกรมสรรพากร ใบกำกับภาษีที่บริษัทฯ ได้ออกและได้รับระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ถึงวันที่ 26 กันยายน 2559 โดยระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรเดิม คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. ที่อยู่ A กทม. จึงถือเป็นใบกำกับภาษีที่ระบุชื่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯไม่ถูกต้องครบถ้วนตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 86/4 (3) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งที่ถูกต้อง คือ ชื่อบริษัท ก. ที่อยู่ A กทม.ดังนั้น บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นใบกำกับภาษีที่มีข้อความไม่ถูกต้องหรือไม่สมบูรณ์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ออกใบกำกับภาษีต้องรับผิดตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อาจอนุโลมตามที่บริษัทฯ ร้องขอได้
เลขตู้: 81/40542

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020