เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/70
วันที่: 5 มกราคม 2561
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: ข้อ 2 (38) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55) ข้อ 2
ข้อหารือ

         1. บัญชีเงินฝาก online deposit เป็นบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ลูกค้าบุคคลสามารถเปิดบัญชีและทำรายการฝากหรือถอนเงินได้ด้วยตนเองผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง บัญชีเงินฝากประเภทอื่น เช่น บัญชีกระแสรายวัน เป็นต้น ไม่สามารถใช้โอนเงินกับบัญชีเงินฝาก online deposit ได้
         2. การเปิดบัญชี ลูกค้าต้องเปิดบัญชีเงินฝาก online deposit ด้วยตนเอง ผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งสำหรับลูกค้าบุคคล โดยไม่จำเป็นต้องไปแสดงตนที่สาขา
         3. บัญชีเงินฝาก online deposit เป็นบัญชีออมทรัพย์ประเภทไม่มีสมุดคู่ฝากสามารถ ทำการฝากหรือถอนเงิน โดยการโอนเงินเข้าหรือโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อื่นๆ ของตนเองที่มีกับธนาคารฯ เท่านั้น ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ต้องการได้เมื่อทำการฝากหรือถอนเงินกับบัญชีเงินฝาก online deposit ในแต่ละครั้ง สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อื่น (ที่ไม่ใช่บัญชีเงินฝาก online deposit) จะต้องเป็นบัญชีเงินฝากของลูกค้าที่ได้เปิดบัญชีที่เคาน์เตอร์สาขาธนาคารฯ และได้ลงทะเบียนใช้ งานทางอินเทอร์เน็ตไว้เท่านั้น หากลูกค้ามีบัญชีที่ใช้งานทางอินเทอร์เน็ตมากกว่า 1 บัญชี ลูกค้าสามารถเลือกบัญชีเหล่านั้น เพื่อใช้ฝากหรือถอนเงินได้ตลอดเวลาด้วยตนเองผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
                   3.1 การฝากเงิน ทำได้โดยการโอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อื่นที่มีกับธนาคารฯ มาเข้าบัญชีเงินฝาก online deposit
                   3.2 การถอนเงิน ทำได้โดยการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝาก online deposit ไปยังบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อื่นที่มีกับธนาคารฯ แล้วเลือกถอนเงินออกจากบัญชีอีกครั้งตามช่องทางการถอนเงินปกติของธนาคารฯ
         4. การทำรายการฝากหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก online deposit ลูกค้าจะต้องเข้าสู่บริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง เพื่อทำรายการโอนเงินไปยังบัญชีออมทรัพย์อื่นของธนาคารฯ ด้วยตนเองทุกครั้งเท่านั้น โดยลูกค้าจะต้องทำการเลือกบัญชีออมทรัพย์อื่นที่ลูกค้าประสงค์จะโอนออกหรือเข้า ทุกครั้งที่ลูกค้าจะฝากหรือถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก online deposit ระบบของธนาคารฯ ไม่มีการผูกบัญชี ออมทรัพย์กับบัญชีเงินฝาก online deposit ไว้ล่วงหน้า นอกจากนี้ ระบบไม่ยินยอมให้มีการตั้งรายการ เพื่อหักบัญชีหรือโอนเงินอัตโนมัติล่วงหน้าระหว่างบัญชีเงินฝาก online deposit กับบัญชีออมทรัพย์อื่นใด ดังนั้น ระบบอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง จึงเป็นเพียงช่องทางในการถอนหรือฝากเงินของลูกค้าของบัญชีออม ทรัพย์ online deposit เทียบเคียงได้กับเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ (ATM) หรือเคาน์เตอร์ของธนาคารฯ สำหรับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ปกติ
         ธนาคารฯ จึงขอหารือว่า การที่ลูกค้าโอนเงินด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตระหว่างบัญชีเงินฝาก online deposit กับบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อื่น ตามข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝากถอนเงินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นบัญชีออมทรัพย์ทั้งคู่และได้รับดอกเบี้ยตลอดปีภาษีไม่เกิน 20,000 บาท บัญชีเงินฝาก online deposit และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย          กรณีลูกค้าของธนาคารฯ เปิดบัญชีเงินฝาก online deposit ซึ่งเป็นบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ลูกค้าสามารถเปิดบัญชีและทำรายการฝากหรือถอนเงินได้ด้วยตนเองผ่านบริการอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งของธนาคารฯ ซึ่งลูกค้าของธนาคารฯ สามารถถอนเงินได้โดยการโอนเงินออกจากบัญชีเงินฝาก online deposit ประเภทออมทรัพย์ไปยังบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์อื่นที่มีอยู่กับธนาคารฯ ได้เท่านั้น โดยระบบของธนาคารฯ ไม่มีการผูกบัญชีออมทรัพย์กับบัญชีเงินฝาก online deposit ไว้ล่วงหน้า และระบบไม่ยินยอมให้มีการตั้งรายการเพื่อหักบัญชีหรือโอนเงินอัตโนมัติล่วงหน้าระหว่างบัญชีเงินฝาก online deposit กับบัญชีออมทรัพย์อื่นใด กรณีดังกล่าวจึงเข้าลักษณะเป็นเงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ที่ไม่ใช้เช็คในการถอนไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมผ่านระบบการหักหรือโอนเงินจากบัญชีดังกล่าวไปยังบัญชีเงินฝากกระแสรายวันหรือบัญชีเงินฝากอื่นใด ตามข้อ 2 (38) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)ฯ ลงวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2538 หากบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ดังกล่าวมีจำนวนดอกเบี้ยรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาทตลอดปีภาษีนั้น ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ดังกล่าว
เลขตู้: 81/40539

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020