เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6534
วันที่: 8 สิงหาคม 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. นางสาว พ. เป็นพนักงานของบริษัท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2532 พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 รวมระยะเวลาการทำงาน 25 ปี 1 เดือน ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายในอัตราเดือนละ 560,300 บาท
          2. นางสาว พ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) ปีภาษี 2557 พร้อมทั้งใบแนบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2557 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานเฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น ๆ (ใบแนบฯ) โดยคำนวณเงินได้ ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ประกอบด้วย เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 5,603,000 บาท (แสดงใน ก 3. ของใบแนบฯ) และเงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียวที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจาก ก 1. ในใบแนบฯ จำนวน 17,358,841.42 บาท (แสดงใน ก 5. ของใบแนบฯ) รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 22,961,841.42 บาท มีภาษีต้องชำระ จำนวน 4,146,682 บาท หักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 5,127,207 บาท ทำให้มีภาษีชำระเกินตามใบแนบฯ จำนวน 980,525 บาท หักภาษีต้องชำระเพิ่มเติมตามแบบ ภ.ง.ด. 91 จำนวน 348.18 บาท ดังนั้น นางสาว พ. มีภาษีที่ชำระไว้เกิน จำนวน 980,176.82 บาท (980,525 - 348.18)
          3. สำนักงานสรรพากรขอให้วินิจฉัยว่าเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานที่ผู้มีเงินได้ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุ หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง กรณีผู้จ่ายเงินได้เป็นบริษัทฯ อยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทใดของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนี้
            3.1 ถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ค) เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และแสดงในข้อ ก 3. ของใบแนบฯ โดยไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้ายแต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ หรือ
            3.2 ถือเป็นเงินได้ตามข้อ 1 (ง) เงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 1 (ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และแสดงในข้อ ก 5. ของใบแนบฯ
แนววินิจฉัย           เงินชดเชยที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ที่ผู้มีเงินได้ได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามข้อ 1 (ค) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งเงินชดเชยดังกล่าวไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ แต่อย่างใด
เลขตู้: 79/40165

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020