เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/6530
วันที่: 8 สิงหาคม 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           ธนาคาร B หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ธนาคาร B ให้ลูกค้ากู้ยืมเงินเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง ซึ่งเดิมธนาคาร B ได้ออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าทุกราย แต่ในปัจจุบันธนาคาร B จะออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ลูกค้าเฉพาะรายที่สร้างอาคารที่อยู่อาศัยแล้วเสร็จเท่านั้น ธนาคาร B ขอหารือว่า กรณีที่ลูกค้าธนาคาร B ได้ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยในปีภาษีนั้นๆ ไปแล้ว แต่อาคารดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จะสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
แนววินิจฉัย           การหักลดหย่อนและการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ผู้มีเงินได้จ่ายให้แก่ธนาคารตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยโดยจำนองอาคารที่สร้างเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรนั้น ผู้มีเงินได้ต้องใช้อาคารเป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ขอหักลดหย่อนหรือได้รับยกเว้นภาษี ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (2) (3) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47 (1) (ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และข้อ 2 (2) (3) และ (4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2 (53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ดังนั้น กรณีอาคารที่อยู่อาศัยยังไม่แล้วเสร็จและลูกค้าธนาคาร B ไม่ได้ใช้อาคารเป็นที่อยู่อาศัยในปีภาษีที่ชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยให้แก่ธนาคาร Bจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยดังกล่าวแต่อย่างใด
เลขตู้: 79/40160

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020