เลขที่หนังสือ | : กค 0702/6773 | วันที่ | : 16 สิงหาคม 2559 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 | ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 | ข้อหารือ |
สมาคมฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออกหรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินแต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิม ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ดังนี้
1.กรณีบริษัทประกอบธุรกิจลีสซิ่งได้ทำสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง โดยมีการบันทึกทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินของบริษัท และได้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร สมาคมฯ ขอทราบว่า รายจ่ายที่บริษัทผู้ให้เช่าได้จ่ายไปเพื่อซื้อทรัพย์สินมาให้เช่าแบบลีสซิ่งนั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 หรือไม่ และจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร 2.กรณีผู้เช่าซื้อ (ไม่ใช่การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง) ได้ทำสัญญาเช่าซื้อระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 และมีการชำระเงินดาวน์และเงินค่างวดเช่าซื้อนั้น สมาคมฯ ขอทราบว่า รายจ่ายที่บริษัทผู้เช่าได้จ่ายไปดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้จ่ายไปเพื่อการลงทุนตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 หรือไม่ และจะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้หรือไม่ อย่างไร | แนววินิจฉัย |
1. กรณีตาม 1. บริษัทประกอบธุรกิจลีสซิ่งได้ซื้อทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3(1) - (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ . 2559 มาเพื่อให้เช่าแบบลีสซิ่ง โดยมีการบันทึกทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินและเริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หากรายจ่ายที่บริษัทได้จ่ายไปเพื่อซื้อทรัพย์สินมาให้เช่าแบบลีสซิ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 บริษัทย่อมใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้
2.กรณีตาม 2. เนื่องจากมาตรา 572 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า "อันว่าเช่าซื้อนั้น คือ สัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว" สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นสัญญาที่ผู้เช่ามีวัตถุประสงค์ในการเช่าซื้อทรัพย์สินเพื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ซึ่งเมื่อผู้เช่าซื้อได้ผ่อนชำระครบตามคราวที่กำหนดในสัญญาแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินให้แก่ผู้เช่าซื้อทันที ดังนั้น กรณีที่บริษัทเช่าซื้อทรัพย์สินมาเพื่อใช้ในกิจการ ซึ่งเป็นทรัพย์สินตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 3 (1) - (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 โดยบริษัทได้มีการบันทึกทรัพย์สินดังกล่าวเพื่อคำนวณค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินและเริ่มต้นหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินนั้นตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ในระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 หากรายจ่ายที่บริษัทได้จ่ายไปนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 266)ฯ ลงวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 บริษัทย่อมใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 604) พ.ศ. 2559 ได้ | เลขตู้ | : 79/40169 |