เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค0702/7885
วันที่: 20 กันยายน 2559
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายไม้สักยืนต้น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 มาตรา 81(1)(ก) และมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           ในปี 2554 บริษัท ก เริ่มประกอบกิจการขายไม้สักและไม้กฤษณาโดยได้ซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่ปลูกไม้สักหรือไม้กฤษณาไว้แล้ว ซึ่งมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 7 - 10 ปี และมีขนาดลำต้นประมาณ 30 - 40 เซนติเมตร เมื่อทำการซื้อขายที่ดินพร้อมต้นไม้ยืนต้นเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะทำการตัดต้นไม้ขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐานออก พร้อมกับปรับปรุงสภาพแปลงและต้นไม้ให้สวยงามต่อมาบริษัทฯ ได้ตกลงขายต้นไม้จำนวนหนึ่งที่อยู่บนที่ดินตาม โดยได้ทำสัญญาซื้อขายต้นไม้สักยืนต้น (สัญญาซื้อขายฯ) กับลูกค้าผู้ซื้อซึ่งเป็นบริษัทในต่างประเทศ ผ่านนายหน้าในต่างประเทศ แต่เนื่องจากต้นไม้ยังมีขนาดเล็ก ลูกค้าจะยังมีสิทธิให้ต้นไม้ดังกล่าวเจริญเติบโตต่อไปอยู่บนที่ดินของบริษัทฯ ได้เป็นระยะเวลาอีก 11 ปี เพื่อรอให้ต้นไม้เติบโตได้ขนาดใหญ่ตามที่กำหนดไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายฯ ซึ่งในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ลูกค้าจะเลือกตัดต้นไม้ออกไปเมื่อไรก็ได้ สำหรับราคาต้นไม้ตามสัญญาซื้อขายฯ คู่สัญญาตกลงกันไว้ในราคาต้นละ 4,500.00 บาท โดยเทียบเคียงกับราคาต้นไม้ที่คาดว่าจะขายได้ในสิบปีข้างหน้า (ในขณะที่ราคาตลาดตามขนาดของต้นไม้ ณ ขณะที่ทำสัญญาซื้อขายฯ อยู่ที่ต้นละประมาณ 300.00 - 400.00 บาท ซึ่งผู้ซื้อยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดหวังผลตอบแทนของราคาต้นไม้ในอนาคตที่น่าจะสูงกว่าราคาที่ตกลงกัน) ทั้งนี้ กรรมสิทธิ์ในต้นไม้จะโอนเป็นของลูกค้าผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อผู้ซื้อได้ชำระเงินให้บริษัทฯ ครบถ้วน โดยบริษัทฯ ตกลงจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะให้ต้นไม้ได้เจริญเติบโตต่อไปบนที่ดินของบริษัทฯ เพื่อให้เติบโตจนได้ตามขนาดที่ได้ตกลงกันไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายฯ สำหรับเงื่อนไขในการส่งมอบต้นไม้นั้น ลูกค้าผู้ซื้อต้องแจ้งความประสงค์ที่จะดำเนินการตัดต้นไม้และกำหนดวันส่งมอบให้บริษัทฯ ทราบล่วงหน้า เพื่อให้บริษัทฯ ทำการตรวจสอบและคัดเลือกต้นไม้ที่มีคุณสมบัติตามที่ระบุในเอกสารแนบท้ายสัญญาซื้อขายฯ และบริษัทฯ จะได้ส่งมอบต้นไม้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้วตั้งแต่โคนต้นไม้ขึ้นไปให้แก่ลูกค้า แต่หากบริษัทฯ ไม่สามารถส่งมอบต้นไม้ได้ตามสัญญาฯ บริษัทฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าให้แก่ลูกค้าผู้ซื้อ ในจำนวนที่เท่ากับราคาขายส่งของตลาดสำหรับไม้สักยืนต้น นอกจากสัญญาซื้อขายต้นไม้สักยืนต้นแล้ว ลูกค้ายังทำสัญญาว่าจ้างบริษัทฯ เพื่อให้จัดการและบำรุงรักษาต้นไม้ (สัญญารับจ้างฯ) โดยบริษัทฯ จะรับประกันว่า ต้นไม้ของลูกค้าจะโตได้ตามเป้าหมายได้ขนาดตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายต้นไม้สักยืนต้น ถ้าต้นไม้เจริญเติบโตไม่ได้ขนาดตามที่กำหนดนั้นหรือต้นไม้สูญหาย บริษัทฯ จะต้องหาต้นไม้ใหม่มาชดเชยให้ลูกค้าตามขนาดที่ได้กำหนดไว้ ตกลงค่าบำรุงรักษาต้นไม้ในอัตรา 150 บาท/ต้น/ปี มีกำหนดเวลา 5 ปี และเพื่อให้บริษัทฯ สามารถใส่ปุ๋ยให้แก่ต้นไม้ได้ตามความจำเป็นในเวลาที่เหมาะสม ลูกค้าจะต้องจ่ายเงินค่าปุ๋ยล่วงหน้า โดยตกลงคิดค่าอุปกรณ์ รวมเท่ากับ 450 บาท/ต้น/ปี มีกำหนดเวลา 5 ปี (สำหรับช่วงแรก ปี 2554 - 2559 และช่วงที่สอง ปี 2560 -2564)
แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญาซื้อขายต้นไม้สักยืนต้นกับลูกค้า เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่อยู่บนที่ดินของบริษัทฯ โดยกำหนดให้กรรมสิทธิ์ในต้นไม้โอนไปเป็นของลูกค้าผู้ซื้อตั้งแต่เมื่อลูกค้าได้ชำระเงินให้บริษัทฯ ครบถ้วนแล้ว แต่การส่งมอบต้นไม้นั้นจะกระทำในภายหลังต่อเมื่อต้นไม้เจริญเติบโตได้ตามขนาดที่ตกลงกันไว้และลูกค้าแจ้งความประสงค์ให้ตัดต้นไม้ภายในกำหนดเวลา 11 ปี ซึ่งการส่งมอบต้นไม้ตามสัญญาดังกล่าวไม่อาจทำได้โดยทางอื่น นอกจากการตัดและขนไม้ออกไปจากที่ดินของบริษัทฯ กรณีตามข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของสัญญาเป็นการซื้อขายไม้ซุง ซึ่งตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน "ซุง"หมายถึง ต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ตัดเป็นท่อนๆ ก่อนแปรรูป จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีบริษัทฯ ทำสัญญารับจ้างจัดการและบำรุงรักษาต้นไม้กับลูกค้า ถือเป็นสัญญาจ้างทำของ มีวัตถุประสงค์เพื่อว่าจ้างบริษัทฯ ให้บำรุงดูแลต้นไม้ รวมถึงการใส่ปุ๋ยตามระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ตามขนาดที่กำหนดไว้ในสัญญาซื้อขายต้นไม้สักยืนต้น โดยคู่สัญญาตกลงคำนวณค่าตอบแทนแยกเป็นส่วนของค่าบำรุงรักษาต้นไม้และส่วนของค่าอุปกรณ์ (รวมค่าปุ๋ย) ในอัตราเหมาต่อต้นไม้แต่ละต้นเป็นรายปี กรณีนี้รายได้ค่าตอบแทนตามสัญญารับจ้างจัดการและบำรุงรักษาต้นไม้ดังกล่าว ถือเป็นรายได้จากการให้บริการรับจ้างดูแลต้นไม้ ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายปุ๋ยตามมาตรา 81(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 79/40202

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020