เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/7569
วันที่: 13 กันยายน 2559
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีจากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และ กฎกระทรวงฉบับที่ 126
ข้อหารือ           นางสาว ก ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีจากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย มีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
          1.นางสาว ก และนาย ภ ได้ร่วมกันซื้อบ้านเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยโดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2551 มีชื่อในทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558 และอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส
          2.เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 นางสาว ก และนาย ภ ได้ร่วมกันซื้อบ้านหลังใหม่และถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน โดยได้ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2558 และต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 นางสาว ก และนาย ภ ได้ขายบ้านหลังเดิมและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้
          3.นางสาว ก ได้หารือว่า นางสาว ก และนาย ภ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้จากการขายบ้านหลังเดิมตาม 2. หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย           เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมที่จะได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและต้องซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 นั้น จะต้องเป็นเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ดังนั้น เมื่อนางสาว ก และนาย ภ มิได้จดทะเบียนสมรส เงินได้จากการขายบ้านหลังเดิมที่นางสาว ก และนาย ภ ได้ร่วมกันซื้อมาจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ในนามห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และไม่ได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546
เลขตู้: 79/40187

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020