เมนูปิด

          บริษัท อ. (บริษัทฯ) หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขนส่งและขนถ่ายสินค้า โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้


          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการขนถ่ายสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวบรรจุกระสอบ การขนถ่ายกระทำโดยขนย้ายข้าวบรรจุกระสอบในเรือลำเลียง (เรือโป๊ะ) ขึ้นไปบนเรือเดินสมุทรต่างประเทศที่เข้ามาจอดทิ้งสมออยู่ในแม่น้ำและเกาะสีชัง เพื่อรอรับสินค้าข้าว ในการขนข้าวจากเรือโป๊ะขึ้นไปบนเรือเดินสมุทร ใช้คนงานของบริษัทฯ เป็นหลัก บริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการท่าเรือและไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม


          2.บริษัทฯ ไม่มีสัญญาบริการขนส่งสินค้า โดยผู้ส่งออกหรือเจ้าของสินค้าจะโทรศัพท์แจ้งรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับเรือเดินสมุทรต่างประเทศที่จะเข้ามารับสินค้า "ข้าว" เช่น ชื่อเรือ วันที่เรือมาถึง ชนิดของสินค้า "ข้าว" บรรจุกระสอบ จำนวนเมตริกตัน เป็นต้น


          3.บริษัทฯ ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย โดยผู้ส่งออกหรือเจ้าของสินค้าในอัตราร้อยละ 1.0 ของเงินได้ และไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) แต่อย่างใดบริษัทฯ จึงหารือว่า การประกอบกิจการของบริษัทฯ เป็นการขนส่งในราชอาณาจักร อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ ที่จ่าย หรือไม่ และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการประกอบกิจการดังกล่าว หรือไม่ อย่างไร

          กรณีบริษัทฯ ใช้แรงงานขนถ่ายสินค้าเกษตรกรรมจากเรือลำเลียง (เรือโป๊ะ) ไปบนเรือเดินสมุทรต่างประเทศที่ทอดสมอในแม่น้ำและเกาะสีชัง โดยไม่มีการให้บริการอื่นใดอีกในการรับขนดังกล่าว และบริษัทฯ ไม่ได้ประกอบกิจการของผู้ประกอบการท่าเรือและผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการให้บริการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันกับกิจการท่าเรือแต่อย่างใด เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร ผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับการจ่ายเงินได้ตามสัญญารายหนึ่ง ๆ มีจำนวนตั้งแต่หนึ่งพันบาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงหนึ่งพันบาท ตามข้อ 12/4 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และเนื่องจากเป็นการให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร บริษัทฯ จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิแจ้งขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขที่หนังสือ: กค 0702/9198 วันที่: 2 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขนส่งและขนถ่ายสินค้า ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 มาตรา 81(1)(ณ) และมาตรา 81/7 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40225

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020