เมนูปิด

          1.นางสาว ช. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ปีภาษี 2553 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2554 ขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 18,035 บาท จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม และซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยนางสาว ช. ได้ซื้อห้องชุดในอาคารชุดเลขที่ ... (ได้เปลี่ยนหมายเลขประจำบ้านเป็น ...) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 โดยเป็นการกู้ร่วมกับนาย ธ. เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย และนางสาว ช. ได้ย้ายชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้าน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 นางสาว ช. และนาย ธ. ได้ร่วมกันซื้อที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เลขที่ ...โดยนางสาว ช. ได้ย้ายชื่อเข้าไปในทะเบียนบ้านแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2553


          2.วันที่ 8 ธันวาคม 2553 นางสาว ช.ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย ธ.โดยระบุว่าก่อนจดทะเบียนสมรสทั้งสองฝ่ายได้อยู่กินกันมาก่อนแล้วเป็นเวลา 5 ปี ยังไม่มีบุตร ไม่ประสงค์ให้มีการบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สิน และในวันดังกล่าว นางสาว ช. และนาย ธ. ได้ร่วมกันขายห้องชุดในอาคารชุด เลขที่ ... (ได้เปลี่ยนหมายเลขประจำบ้านเป็น ...) ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม

          1.กรณีนางสาว ช. และนาย ธ. ได้ร่วมกันซื้อห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยก่อนสมรส ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2553 นางสาว ช. และนาย ธ. ได้จดทะเบียนสมรสกัน และได้ร่วมกันขายห้องชุดในอาคารดังกล่าว ห้องชุดในอาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสอันเป็นสินส่วนตัว เงินได้จากการขายห้องชุดในอาคารชุดยังคงเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย และสินส่วนตัวของฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ ตามมาตรา 1471 ถึงมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับการจัดเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยาก่อนปีภาษี 2555 นั้น ถ้าสามีภริยาอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของภริยาเป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่กรณีดังกล่าวความเป็นสามีภริยาไม่ได้มีอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี 2553 นางสาว ช. จึงต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของตนมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามตนเอง และไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล


          2.เมื่อนางสาว ช. และนาย ธ. ได้ขายห้องชุดในอาคารชุดที่เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม โดยนางสาว ช. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว และได้ร่วมกันซื้อห้องชุดในอาคารชุดแห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย โดยนางสาว ช. ได้โอนชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านเป็นเจ้าบ้านเพียงฝ่ายเดียวนางสาว ช. จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์แห่งเดิมเฉพาะส่วนของตน เท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และข้อ 1(1)(3) และ (6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546

เลขที่หนังสือ: กค 0702/9582 วันที่: 16 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40244

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020