เมนูปิด

          บริษัทฯ เป็นผู้ว่าจ้างนาง ช. และเป็นผู้จัดส่งนาง ช. เพื่อไปปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน นาง ช. ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 165 วัน ในปีภาษี 2557บริษัทฯ ขอทราบว่า กรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนาง ช. สำหรับการปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินซึ่งเป็นของสายการบินของประเทศ F จำเป็นต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีสำหรับเงินได้ดังกล่าวในประเทศไทย สำหรับปีภาษี 2557

          กรณีค่าจ้างที่นาง ช. ได้รับจากบริษัทฯ สำหรับการไปปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินฟินแอร์ ในปีภาษี 2557 นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในประเทศไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเทศไทยและประเทศ F มีข้อตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ หากนาง ช. เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ F ตามกฎหมายภาษีของประเทศ F นาง ช. จะอยู่ในบังคับของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ นี้ ตามข้อ 1 ของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ และค่าจ้างดังกล่าว หากเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนที่ได้รับในส่วนที่เกี่ยวการจ้างงานที่กระทำในอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ โดยสายการบินของประเทศ Fแต่เพียงอย่างเดียว ค่าจ้างดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในประเทศไทย ตามข้อ 15 วรรคสาม ของอนุสัญญาภาษีซ้อนฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นนรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505

เลขที่หนังสือ: กค 0702/9269 วันที่: 4 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีปฏิบัติหน้าที่พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบิน ข้อกฎหมาย: ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ข้อหารือแนววินิจฉัยเลขตู้: 79/40230

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020