เลขที่หนังสือ | : กค 0702/9233 | วันที่ | : 3 พฤศจิกายน 2559 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ | ข้อกฎหมาย | : สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ | ข้อหารือ | | บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1.เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2544 บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการค้าส่งและส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ให้บริการด้านเทคนิค วิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์ และซ่อมแซมอะไหล่แม่พิมพ์ โดยบริษัทฯ เป็นบริษัทในกลุ่มโตโยต้า และมีบริษัท โตโยต้า โบโชคุ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น (บริษัทแม่) ถือหุ้นของบริษัทฯในอัตราร้อยละ 99.99 บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
2.บริษัทฯ ได้รับอนุมัติจากกรมสรรพากรให้เป็น IHQ ตามหนังสือที่ กค 0722/ภญ/4518 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2559 โดยประกอบกิจการ การให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน และการเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (ITC) และมีรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีรวม 15 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้
- รอบระยะเวลาบัญชีแรกเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560
- รอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายเริ่มวันที่ 1 เมษายน 2573 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2574บริษัทฯ มีคนต่างด้าวทำงานประจำ จำนวน 54 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีรายชื่อระบุอยู่ในรายละเอียดคนต่างด้าวที่ขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามเอกสารแนบแบบ ส.ญ.ค. 1 ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
3.บริษัทฯ ขอทราบว่า
3.1บริษัทฯ มีการประกอบกิจการทั้งกิจการ IHQ ซึ่งรวมถึงกิจการ ITC และ Non-IHQ(ไม่ใช่กิจการ IHQ และ ITC) ซึ่งบริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค และการให้บริการแก่บริษัทในเครือทั้งในประเทศและต่างประเทศ และรายได้จากกิจการ ITC กรณีการจัดซื้อและขายสินค้าวัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือการให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งบริษัทฯ จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เฉพาะกรณีการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศโดยสินค้าต้องมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยหรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร (Out-Out Transaction) สำหรับรายได้จากกิจการ ITC กรณีการนำเข้า (Out-In Transaction) การส่งออก (In-Out Transaction) หรือการจัดซื้อและขายสินค้าภายในประเทศ (In-In Transaction) ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี แต่อย่างไรก็ตาม การประกอบกิจการของบริษัทฯ ก็ยังคงเป็นการประกอบกิจการ ITC ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
3.2การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญการเฉพาะด้านที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลกิจการ IHQ และ Non-IHQ บริษัทฯ สามารถหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 จากเงินได้พึงประเมินทั้งจำนวนที่จ่ายให้แก่คนต่างด้าว ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติอย่างไร ดังนี้
(1)กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถแยกสัดส่วนเงินเดือนของคนต่างด้าวได้โดยชัดแจ้งว่าส่วนใดเป็นของกิจการ IHQ และส่วนใดเป็น Non-IHQ บริษัทฯ จะเลือกใช้วิธีการปันส่วนเงินได้ตามสัดส่วนรายได้ของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคำนวณจากรายได้หลัก (รายได้จากการขายหรือให้บริการ) หรือรายได้ทั้งหมดซึ่งรวมถึงรายได้อื่น ๆ เช่น ดอกเบี้ย กำไร (ขาดทุน) จากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
(2)หากไม่ใช้วิธีการตาม (1) บริษัทฯ มีสิทธิเลือกใช้วิธีการปันส่วนเงินได้ตามสัดส่วนหรือจำนวนชั่วโมงการทำงานที่เกิดขึ้นจริงของคนต่างด้าวตามแต่ละประเภทกิจการของบริษัทฯ ตามรายละเอียดที่บันทึกอยู่ในคำบรรยายลักษณะงานและบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของคนต่างด้าว (Job Description and Responsibility) ประกอบกับรายงานจดบันทึกการทำงานในแต่ละวัน (Timesheet) ซึ่งผ่านการตรวจสอบและอนุมัติโดยหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง
3.3การพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 นั้น เป็นการพิจารณาคุณสมบัติเฉพาะรายบุคคล โดยพิจารณาจากจำนวนเงินได้พึงประเมินทั้งหมดที่คนต่างด้าวได้รับจากบริษัทฯ ว่าเป็นจำนวนรวมไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านบาทต่อปีภาษี หรือเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 แสนบาทต่อเดือน แต่การปันส่วนเงินได้ของคนต่างด้าวในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิก็เพื่อจำแนกว่าเงินเดือนส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการประเภทใด ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวตามกฎหมาย ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
3.4หากภายหลังพบว่า บริษัทฯและ/หรือ คนต่างด้าว มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนในปีภาษีใด คนต่างด้าวก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และบริษัทฯ ก็ไม่มีสิทธิในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 เช่นกัน แต่ถ้าคนต่างด้าวได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) โดยคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า พร้อมชำระภาษีไว้ครบถ้วนแล้ว บริษัทฯในฐานะผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมไม่มีความรับผิดเกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในส่วนที่เกินกว่าร้อยละ 15 พร้อมทั้งเงินเพิ่มแต่อย่างใดความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย | | 1.กรณีตามข้อ 3.1 บริษัทฯ มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586)พ.ศ. 2558 และได้รับอนุมัติให้เป็น IHQ เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านบริหาร ด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน และการเป็น ITC โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นระยะเวลาสิบห้ารอบระยะเวลาบัญชี โดยบริษัทฯประกอบกิจการทั้งกิจการ IHQ ซึ่งรวมถึงกิจการ ITC และ Non-IHQ และมีรายได้ตามมาตรา 7 (1) มาตรา 8 (1) และ (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 และรายได้จากกิจการ ITC กรณีการนำเข้า การส่งออก หรือการจัดซื้อและขายสินค้าภายในประเทศ ซึ่งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี นั้น กรณีดังกล่าว การลดอัตราภาษีเงินได้หรือยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ IHQ สำหรับรายได้ที่กำหนดตามมาตรา 7 และมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่นิติบุคคลที่เป็น IHQ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด มิใช่สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ให้แก่กิจการ ดังนั้นหากบริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งกิจการ IHQ และ Non-IHQ บริษัทฯ จะต้องคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของแต่ละกิจการแยกต่างหากจากกัน หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าส่วนใดเป็นรายจ่ายของกิจการใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้จากการประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและรายได้จากกิจการอื่น และกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการ IHQ ซึ่งมีทั้งรายได้ที่รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ ให้บริษัทฯ คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของรายได้แต่ละส่วนแยกต่างหากจากกันหากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของรายได้ในส่วนใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้ระหว่างรายได้ที่รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 (1) มาตรา 8 (1) และ (5) และมาตรา 9 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 1 และข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
2.กรณีตามข้อ 3.2 และข้อ 3.3 บริษัทฯ มีคนต่างด้าวเป็นพนักงานประจำ จำนวน 54 คน ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและมีรายชื่อระบุอยู่ในรายละเอียดคนต่างด้าวที่ขอใช้สิทธิลดอัตราภาษีตามเอกสารแนบท้ายแบบ ส.ญ.ค. 1 โดยคนต่างด้าวทำงานทั้งในส่วนของกิจการ IHQ ซึ่งเป็นกิจการที่มี ทั้งรายได้ที่รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ และรายได้ที่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมทั้งในส่วนของกิจการ Non-IHQ พิจารณาได้ ดังนี้
2.1คนต่างด้าวที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ต้องมีลักษณะ ดังนี้
(1)ต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558
(2)ต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีคุณสมบัติข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
2.2กรณีบริษัทฯ ไม่สามารถแยกได้โดยชัดแจ้งว่า เงินได้พึงประเมินจากสัญญาจ้างแรงงานที่คนต่างด้าวดังกล่าวได้รับนั้น เนื่องมาจากการทำงานในส่วนของกิจการ IHQ หรือ Non-IHQ ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้จากการประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและรายได้จากกิจการอื่นและกรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการ IHQ ซึ่งมีทั้งรายได้ที่รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ ให้บริษัทฯ คำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของรายได้แต่ละส่วนแยกต่างหากจากกัน หากรายจ่ายใดไม่สามารถแยกกันได้โดยชัดแจ้งว่าเป็นรายจ่ายของรายได้ในส่วนใด ให้บริษัทฯ เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้ระหว่างรายได้ที่รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 (1) มาตรา 8 (1) และ (5) และมาตรา 9 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 1 และข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 และกรณีบริษัทฯ มีกำไรหรือขาดทุนจากการคำนวณค่าหรือราคาของเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินของกิจการ IHQ ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีให้เป็นเงินตราไทย เนื่องจากกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวเกิดจากการปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินตรา ทรัพย์สินหรือหรือหนี้สินดังกล่าวเป็นของกิจการ IHQ ดังนั้น กำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงถือเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิแล้วแต่กรณีของกิจการ IHQ แต่สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร นั้น ไม่ถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของกิจการ IHQ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในการลดอัตราภาษีเงินได้หรือยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 7 มาตรา 8 และมาตรา 9 (5)แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ประกอบกับข้อ 1 และข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 แต่อย่างไรก็ตาม หากรายจ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้คนต่างด้าว จำนวน 54 คนตามสัญญาจ้างแรงงานจากการทำงานในส่วนของกิจการ IHQ โดยบริษัทฯ ได้เฉลี่ยรายจ่ายดังกล่าวตามส่วนของรายได้จากการประกอบกิจการ IHQ ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานที่เกี่ยวกับกิจการของ IHQ ที่จ่ายให้กับผู้รับในประเทศไทยไม่ถึงสิบห้าล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ และคนต่างด้าวจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย ตามมาตรา 9 (3) และวรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558
3.กรณีตามข้อ 3.4 หากในภายหลังปรากฏว่า บริษัทฯ ไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง ในรอบระยะเวลาบัญชีใด สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการประกอบกิจการ IHQ ที่ได้รับตามมาตรา 7 และมาตรา 8 ย่อมเป็นอันระงับเฉพาะในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ทำให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นพนักงานของ IHQ ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมเป็นอันระงับไปตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 586) พ.ศ. 2558 ดังนั้น บริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรตามมาตรา 50 (1) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร หากบริษัทฯ มิได้ปฏิบัติตามกฎหมายย่อมมีความรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ดังนี้
3.1ความรับผิดในทางแพ่ง ผู้จ่ายเงินได้ (บริษัทฯ) ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ (คนต่างด้าว)ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนที่ขาดไปตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่งตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้มีเงินได้ได้นำเงินได้พึงประเมินตามจำนวนที่ไม่ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแล้ว ถือว่า ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ชำระภาษีแล้ว ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินจึงหลุดพ้นจากหนี้ภาษีเฉพาะเงินภาษีที่ต้องชำระต่อกรมสรรพากรตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร แต่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายยังคงต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่งตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการนำส่งภาษี จนถึงวันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีครบจำนวนที่ถูกต้องแต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้ไม่ให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องนำส่ง
3.2 ความรับผิดทางอาญา บริษัทฯ ย่อมต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท ตามมาตรา 17 และมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ | : 79/40237 |