เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/1259
วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีส่งพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา ม.41
ข้อหารือ           1.นาย .ส เป็นพนักงานของบริษัท อ. จำกัด (บริษัทฯ) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทฯ ได้ให้บริการดูแลควบคุมการผลิตสินค้าและคุณภาพในประเทศไทยแก่ E (ผู้ว่าจ้างฯ) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนที่ประเทศสิงคโปร์ โดยผู้ว่าจ้างฯ ได้จ้างบริษัท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ให้ผลิตสินค้าในประเทศไทย
          2. ปลายปี พ.ศ. 2554 ประเทศไทยประสบอุทกภัย ผู้ว่าจ้างฯ จึงว่าจ้าง B บริษัทจดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย ให้เป็นผู้ผลิตสินค้าแทน จึงเป็นเหตุให้บริษัทฯ ส่งนาย ส. ไปปฏิบัติงาน ณ ประเทศมาเลเซีย เพื่อควบคุมการผลิตสินค้าและคุณภาพสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างฯ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นไป แต่นาย ส. ต้องเดินทางกลับประเทศไทยบ่อยครั้ง เนื่องจากความจำเป็นเกี่ยวกับครอบครัว บางช่วงจึงปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับประเทศมาเลเซียในประเทศไทยเมื่อคำนวณจากสำเนาหนังสือเดินทางทุกหน้าที่ประทับตราเข้า-ออก พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 นาย ส. อยู่ในประเทศไทย รวม 219 วัน และอยู่ในประเทศมาเลเซีย รวม 218 วัน
          3. ในปี พ.ศ. 2555 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานที่ทำในประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในประเทศไทยของนาย ส. เป็นจำนวนรวม 1,712,944 บาท มีรายละเอียดดังนี้
               - เงินได้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในประเทศไทย จำนวน 561,122.77 บาท (คำนวณจากวันทำงานในประเทศไทยจำนวน 111 วัน)
               - เงินได้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในประเทศมาเลเซีย จำนวน 1,151,821.23 บาท (คำนวณจากวันทำงานในประเทศมาเลเซียจำนวน 218 วัน)ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย พร้อมนำส่งกรมสรรพากรแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 167,792.84 บาท
          4. นาย ส ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด. 91) สำหรับปีภาษี 2555 แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 1,712,944 บาท ภาษีที่คำนวณได้จำนวน 139,999.25 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 167,792.84 บาท เมื่อคำนวณแล้วมีภาษีอากรที่ชำระไว้เกิน จำนวน 27,793.59 บาท พร้อมทั้งได้ใช้แบบแสดงรายการเป็นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรที่ชำระไว้เกินดังกล่าว
          5. ในปีภาษี 2555 นาย ส. อ้างว่าตนเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศมาเลเซีย และได้ยื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ประเทศมาเลเซียด้วย ต่อมานาย ส. จึงได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค. 10)เพื่อขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับปีภาษี 2555 จำนวน 94,138.58 บาท เนื่องจากเข้าใจว่ามีการชำระภาษีซ้ำซ้อนจากเงินได้ที่ได้รับจากการปฏิบัติงานในประเทศมาเลเซีย
แนววินิจฉัย           1. กรณีนาย ส.ได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานที่ทำเพื่อประโยชน์ของบริษัทฯ ในประเทศไทยและประเทศมาเลเซียจากบริษัทฯ ผู้เป็นนายจ้าง ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ถือว่านาย ส. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย นาย ส. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้ดังกล่าวในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร
          2. เนื่องจากในปี พ.ศ. 2555 นาย ส. อยู่ในประเทศไทยรวม 219 วัน นาย ส.จึงเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ นายส. ยังเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศมาเลเซียอีกด้วย ดังนี้ หากนาย ส.เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่เพื่อความมุ่งประสงค์ในการเสียภาษีในทั้งสองรัฐ คือ ทั้งประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย จำเป็นจะต้องมีการกำจัดความซ้ำซ้อนของถิ่นที่อยู่เสียก่อน ซึ่งจะมีผลถึงการพิจารณาเขตอำนาจในการจัดเก็บภาษีของรัฐคู่สัญญาและการขจัดภาษีซ้อนตามความตกลงฯ ต่อไป และเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วพบว่า นาย ส.มีครอบครัวอยู่ที่ประเทศไทยแต่ถูกส่งตัวไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการทำงานให้แก่นายจ้างในประเทศไทยโดยนายจ้างได้จ่ายค่าจ้างให้แก่นาย ส.ผ่านบัญชีในประเทศไทย กรณีจึงอาจถือได้ว่านาย ส. มีที่อยู่ถาวรในประเทศไทย และแม้ว่านาย ส อาจมีที่อยู่ถาวรในทั้งสองรัฐ แต่ความสัมพันธ์ทางส่วนตัวและทางเศรษฐกิจของนายสมภพฯ ย่อมใกล้ชิดกับประเทศไทยมากกว่า จึงถือว่านาย ส. มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ตามข้อ 4 (2) (ก) ของความตกลงฯ
          3. ตามข้อ 14 วรรค 1 ของความตกลงฯ โดยหลักแล้วเฉพาะรัฐถิ่นที่อยู่ซึ่งในกรณีนี้คือประเทศไทยเท่านั้น ที่จะมีสิทธิเก็บภาษีจากค่าตอบแทนที่นาย ส ได้รับเนื่องจากการบริการส่วนบุคคล อย่างไรก็ตาม นาย ส ได้กระทำการบริการบางส่วนในประเทศมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียจึงมีสิทธิเก็บภาษีจากค่าตอบแทนในส่วนที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศมาเลเซียด้วย อย่างไรก็ดี ตามข้อ 14 วรรค 2 ของความตกลงฯ ประเทศไทยเท่านั้นที่จะมีสิทธิเก็บภาษีจากค่าตอบแทนดังกล่าว หากกรณีเป็นไปตามเงื่อนไขทั้งสามประการ ดังนี้
               ก. ผู้รับอยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งนั้น (ประเทศมาเลเซีย) ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลาซึ่งรวมกันแล้วไม่เกินกว่า 183 วัน ในวันปฏิทินที่เกี่ยวข้อง และ
               ข. การให้บริการนั้นได้ทำขึ้นเพื่อหรือในนามของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้ทำสัญญาที่กล่าวถึงรัฐแรก (ประเทศไทย) และ
               ค. ค่าตอบแทนนั้นมิได้ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวรซึ่งบุคคลผู้จ่ายค่าตอบแทนมีอยู่ในรัฐ ผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง (ประเทศมาเลเซีย)เมื่อพิจารณาแล้วปรากฏว่านาย ส อยู่ในประเทศมาเลเซียชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลาซึ่งรวมกันแล้วเกินกว่า 183 วัน ในปี พ.ศ. 2555 กรณีจึงไม่ครบเงื่อนไขตามข้อ 14 วรรค 2 ของความตกลงฯ ผลก็คือจะต้องใช้หลักตามข้อ 14 วรรค 1 ของความตกลงฯ กล่าวคือ ประเทศไทยมีสิทธิในการเก็บภาษีจากค่าตอบแทนที่นาย ส. ได้รับ ทั้งที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยและในประเทศมาเลเซีย แต่ประเทศมาเลเซียก็มีสิทธิเก็บภาษีจากค่าตอบแทนที่นาย ส ได้รับในส่วนที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศมาเลเซียด้วย จึงเกิดการเก็บภาษีซ้อนกันในส่วนนี้ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐถิ่นที่อยู่มีหน้าที่ขจัดภาษีซ้อนโดยการยอมให้มีการนำภาษีที่เกี่ยวกับเงินได้ในส่วนที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียมาเครดิตต่อภาษีไทยที่ต้องชำระในส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้นั้น แต่จำนวนเครดิตภาษีจะต้องไม่เกินจำนวนภาษีไทยส่วนที่ได้คำนวณไว้ก่อนที่จะให้เครดิตตามจำนวนที่เหมาะสมกับเงินได้นั้น ตามข้อ 23 วรรค 4 ของความตกลงฯ
เลขตู้: 80/40317

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020