เมนูปิด

พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 299)
พ.ศ. 2539
-----------------------
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2539
เป็นปีที่ 51 ในรัชกาลปัจจุบัน

                    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

                    โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการขายเรือบางกรณี

                    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                    มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 299) พ.ศ. 2539”

                    มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                    มาตรา 3  ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 1 สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ซึ่งการเช่าเรือนั้นได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวี ทั้งนี้ เฉพาะค่าเช่าที่มีการจ่ายระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2544

                    “มาตรา 4  ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและประกอบกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เฉพาะที่ได้จากการขายเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และนำเงินได้ดังกล่าวไปจัดหาเรือลำใหม่เพื่อทดแทนเรือลำเก่า

ที่ขายไป ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้
                    (1) เรือลำใหม่ที่จัดหาโดยการซื้อหรือการต่อเรือทดแทนต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
                       (ก) กรณีซื้อเรือทดแทนเรือลำเก่าที่ขายไป
                           1) เรือที่ทดแทนต้องมีอายุการใช้งานมาแล้วน้อยกว่าเรือลำเก่าที่ขายไปและต้องมีระวางบรรทุกไม่น้อยกว่าเรือลำเก่าที่ขายไป
                           2) เรือที่ทดแทนต้องนำไปจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทยภายในหนึ่งปีก่อนวันที่ขายเรือลำเก่า แต่ไม่เกินสองปีนับแต่วันที่ขายเรือลำเก่าแต่ถ้าเรือที่ทดแทนได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้วต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือที่ทดแทนภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
                       (ข) กรณีต่อเรือทดแทน

                           1) เรือที่ต่อใหม่ต้องมีระวางบรรทุกไม่น้อยกว่าเรือลำเก่าที่ขายไป

                           2) เรือที่ต่อใหม่ต้องนำไปจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย

ภายในสองปีนับแต่วันที่ขายเรือลำเก่าในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ เนื่องมาจากการต่อเรือลำใหม่ยังไม่แล้วเสร็จโดยมิใช่ความผิดของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงหนังสือรับรองจากกรมเจ้าท่าที่ระบุเหตุผลที่ทำให้การต่อเรือลำใหม่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในสองปีนับแต่วันที่ขายเรือลำเก่าต่ออธิบดี ในการนี้ ให้ขยายเวลาการจดทะเบียนเป็นเรือไทยอีกไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว

                    (2) ต้องแจ้งการขายเรือลำเก่า การซื้อเรือ หรือการต่อเรือทดแทน เป็นหนังสือต่ออธิบดีภายในกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

                       (ก) กรณีที่ได้ซื้อเรือทดแทนก่อนการขายเรือลำเก่า ให้แจ้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ขายเรือลำเก่า

                       (ข) กรณีที่ได้ซื้อเรือทดแทนภายหลังจากการขายเรือลำเก่า หรือต่อเรือทดแทน ให้แจ้งภายในสามสิบวันนับแต่วันจดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย แต่ถ้าเรือที่ทดแทนได้จดทะเบียนเป็นเรือไทยแล้ว ให้แจ้งภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในเรือดังกล่าว

ในกรณีที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือของเรือลำเก่าที่ขายไปไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 543) พ.ศ.2555 ใช้บังคับ 28 กันยายน 2555 เป็นต้นไป)

                    
มาตรา 5  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
     บรรหาร ศิลปอาชา
         นายกรัฐมนตรี

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้ที่นำมาคำนวณภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าเช่าเรือเดินทะเลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้จากการขายเรือเพื่อนำไปซื้อเรือลำใหม่เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีของประเทศให้มีการพัฒนาและขยายกองเรือเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

 

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 113 ตอนที่ 40 ก วันที่ 24 กันยายน 2539)

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022