เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4185 |
วันที่ | : 29 มิ.ย. 2560 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | กรณีออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่มิได้ออกจากงาน ให้แก่พนักงานที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยกองทุนฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว แต่พนักงานได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินได้จำนวนดังกล่าวใน สปป.ลาว อีกครั้งหนึ่ง เงินได้ที่ จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานที่ ส่งเข้าทำงานใน สปป.ลาว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินเนื่องจากกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร หากผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ใน สปป.ลาว เงินได้ที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้รับจากการทำงานใน สปป.ลาว จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะใน สปป.ลาว ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ 3 ขอหารือว่า พนักงาน. สามารถขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จากเงินได้ที่ได้รับจากกองทุนฯ ซึ่งหักนำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว ได้หรือไม่ |
แนววินิจฉัย | กรณีที่พนักงานลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ไม่ได้ลาออกจากงาน ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติต่อไป เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับจากการทำงานเพื่อกิจการของนายจ้างในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อกองทุนฯ จ่ายเงินได้ให้แก่พนักงาน จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เข้าลักษณะเป็น เงินได้จากการบริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ ซึ่งพนักงานได้รับในส่วนที่เกี่ยวกับการจ้างงาน ดังนั้น หากพนักงานเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ใน สปป.ลาว เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะเก็บภาษีได้เฉพาะใน สปป.ลาว ตามข้อ 15 วรรคหนึ่ง แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจาก เงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 พนักงานจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยจากเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่อย่างใด ดังนั้น หากพนักงานถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว พนักงานย่อมมีสิทธิขอคืนภาษีจำนวนดังกล่าว |
เลขตู้ | : 80/40413 |