เลขที่หนังสือ | : กค 0702/4444 |
วันที่ | : 7 กรกฎาคม 2560 |
เรื่อง | : อากรแสตมป์ กรณีสัญญาจ้างทำของ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.153/2559 |
ข้อหารือ |
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตและประกอบยานยนต์ ทำการวิจัย ออกแบบ และพัฒนางานด้านวิศวกรรมยานยนต์ บริษัทฯ ได้จ้างบริษัท A เพื่อช่วยสนับสนุนและร่วมพัฒนางานด้านวิศวกรรมยานยนต์
2. ในการจ้างดังกล่าว บริษัททั้งสามได้ทำสัญญาต่างๆ ดังนี้ (1) สัญญาต้นแบบการบริการวิศวกรรม หรือ Master Engineering Services Agreement (สัญญาต้นแบบฯ) เป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่คู่สัญญาจะพึงต้องปฏิบัติแก่กัน เช่น กรอบและแนวคิดของงานที่ว่าจ้าง ขั้นตอนและวิธีการสั่งงาน วิธีการเสนอแผนงานแต่ละโครงการ การส่งมอบผลงาน การคิดคำนวณและชำระเงินค่าจ้าง หน้าที่และความรับผิดที่คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีตามสัญญา (2) สัญญาเฉพาะงานหรือสัญญา Individual Agreement (สัญญาเฉพาะงาน) เป็นสัญญาที่จะต้องทำตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต้นแบบฯ เพื่อกำหนดรายละเอียดของงานที่จะทำ โดยสัญญาเฉพาะงานที่ทำนี้แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ก) สัญญา Annual Agreement เป็นสัญญาที่ทำเพื่อกำหนดชนิดของงานวิศวกรรมทั่วไปที่จะกระทำแต่ละปี รวมทั้งกำหนดจำนวนค่าบริการและค่าใช้จ่ายโดยประมาณของทั้งโครงการในแต่ละปี ข) สัญญา Project Plan เป็นสัญญาที่จะทำเมื่อบริษัทฯ ต้องการให้บริษัท A และ/หรือบริษัท B ญี่ปุ่นทำงานด้านวิศวกรรมยานยนต์ชิ้นหนึ่งชิ้นใดโดยเฉพาะ ภายใต้กรอบและแนวคิดของงานที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาต้นแบบฯ โดยสัญญา Project Plan จะกำหนดรายละเอียดต่างๆ ของงานที่จะทำ เช่น จำนวนชั่วโมงการทำงาน วิธีคิดค่าบริการ กำหนดการส่งมอบงาน และเป็นไปตามแบบฟอร์มของสัญญา Project Plan ได้กำหนดไว้เป็นเอกสารแนบท้ายของสัญญาต้นแบบฯ บริษัททั้งสามได้ลงนามในสัญญาต้นแบบฯ ในวันที่ 17 กันยายน 2555 ต่อมาบริษัททั้งสามได้ทำสัญญาเฉพาะงานขึ้น โดยบริษัท A และบริษัท B ได้ลงนามเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 และบริษัทฯ ได้ลงนามเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 บริษัทฯ ขอหารือว่า สัญญาต้นแบบฯ เป็นสัญญาจ้างทำของ หรือไม่ และสัญญาเฉพาะงาน บริษัท A และบริษัท B มีหน้าที่ต้องชำระอากรแสตมป์ หรือไม่ อย่างไร |
แนววินิจฉัย | กรณีสัญญาต้นแบบฯ ที่บริษัททั้งสามได้ทำนั้น มีข้อสัญญากำหนดไว้ว่า บริษัท A และบริษัท B ตกลงจะให้บริการวิศวกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนายานยนต์และอุปกรณ์เกี่ยวกับยานยนต์ให้แก่บริษัทฯ และบริษัทฯ ตกลงจะชำระค่าจ้างตามจำนวน วิธีการ และหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งมีข้อสัญญาอื่นๆ เช่น กรอบการทำงาน ลักษณะของการให้บริการ วิธีการสั่งงาน การส่งมอบและการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิบัตรในงานที่ว่าจ้าง ซึ่งข้อสัญญาในการวิจัยและพัฒนายานยนต์และการจ่ายค่าจ้างตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต้นแบบฯ ดังกล่าว เห็นได้ว่า คู่สัญญามุ่งประสงค์ถึงความสำเร็จของงานที่สามารถรู้ได้ว่าเป็นประเภทการวิจัยและพัฒนา เกี่ยวกับยานยนต์ที่บริษัทฯ ผลิตและประกอบเป็นสำคัญ แม้ว่าในขณะทำสัญญาต้นแบบฯ คู่สัญญาจะยังมิได้มีการกำหนดชิ้นงานที่จะให้ทำและยังมิได้กำหนดจำนวนสินจ้างที่จะชำระกันเป็นที่แน่นอนก็ตาม เนื่องจากสัญญาต้นแบบฯ เป็นสัญญาระยะยาว และการกำหนดชิ้นงานที่จะให้ทำในแต่ละครั้งขึ้นอยู่กับดุลพินิจและการตัดสินใจของบริษัทฯ ว่าต้องการให้ทำการวิจัยและพัฒนางานชิ้นใดเพื่อการนำไปใช้งานในแต่ละคราว จึงอาจเป็นการยากที่จะกำหนดไว้ให้แน่นอนในขณะที่ทำสัญญาต้นแบบฯ ดังนี้ สัญญาต้นแบบฯ จึงเข้าลักษณะเป็นกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งตกลงรับจะทำการงานสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนสำเร็จ และคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง รับจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น อันเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อคู่สัญญาทุกฝ่ายได้ลงลายมือชื่อในสัญญาต้นแบบฯ ในวันที่ 30 กันยายน 2554 สัญญาต้นแบบฯ จึงมีผลผูกพันคู่สัญญา และเป็นตราสารตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ทุกจำนวน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้ และเมื่อปรากฏว่า ในขณะทำสัญญาต้นแบบฯ ยังมิได้มีการกำหนดจำนวนสินจ้างที่แน่นอนกันไว้เนื่องจากยังไม่อาจรู้จำนวนที่ต้องชำระ ซึ่งถือว่า เป็นกรณีที่ไม่ทราบจำนวนสินจ้างว่าเป็นราคาเท่าใด ก็ให้ประมาณจำนวนสินจ้างตามสมควร แล้วให้เสียอากรตามจำนวนสินจ้างที่ประมาณนั้น สำหรับสัญญาเฉพาะงาน ซึ่งแบ่งเป็นสัญญา Annual Agreement และสัญญา Project Plan คู่สัญญามีเจตนาจะกระทำภายหลังที่ได้ลงนามในสัญญาต้นแบบฯ แล้ว เพื่อกำหนดรายละเอียดของงานที่จะให้ทำ เช่น งานวิศวกรรม ชั่วโมงการทำงาน จำนวนค่าบริการ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามกรอบการว่าจ้างที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาต้นแบบฯ นั้น มีลักษณะเป็นการสั่งให้ดำเนินการเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาต้นแบบฯ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาต้นแบบฯ และเมื่อต้องมีการชำระสินจ้างตามสัญญาเฉพาะงานแต่ละฉบับแยกกัน ถือว่าเป็นกรณีที่มีการรับสินจ้างเป็นคราวๆ ซึ่งหากจำนวนอากรที่เสียไว้ตามสัญญาต้นแบบฯ ยังไม่ครบ ให้เสียอากรเพิ่มเติมให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียทุกครั้งในทันทีที่มีการรับเงิน หรือเมื่อการรับจ้างทำของสิ้นสุดลงและปรากฏว่าได้เสียอากรเกินไป ก็ให้ขอคืนตามมาตรา 122 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ เทียบเคียงได้กับข้อ 5 และข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.153/2559 เรื่อง การเสียอากรสำหรับตราสารการเช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือแพ และตราสารจ้างทำของ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 |
เลขตู้ | : 80/40422 |