เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/พ./4963
วันที่: 2 สิงหาคม 2560
เรื่อง:ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งอยู่ในต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1 (14) (21), มาตรา 80/1,และมาตรา 81 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

         กรณีการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศผ่านเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งอยู่ในต่างประเทศ สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
         1. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายเครื่องจักรกลงานก่อสร้าง (เครื่องจักรฯ) ได้ขายเครื่องจักรฯ ให้กับบริษัท ข.จำกัด (บริษัท ข.) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและไปประกอบกิจการรับจ้างขุดและขนถ่านหินในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีข้อตกลงตามสัญญาขาย เลขที่ ลงวันที่ 1 มีนาคม 2558 สรุปสาระสำคัญได้ว่า บริษัทฯ จะส่งมอบเครื่องจักรฯ ให้บริษัท ข ที่เหมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบริษัท ข. จะชำระเงินค่าเครื่องจักรฯ ตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาฯ แต่เนื่องจากบริษัทฯ แจ้งว่าปัจจุบันยังไม่ถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญาฯ บริษัท ข. จึงยังมิได้ทำการชำระเงินค่าเครื่องจักรฯให้แก่บริษัทฯ
          2. บริษัทฯ ได้สั่งซื้อเครื่องจักรฯ จากบริษัทผู้ผลิตที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น (บริษัทต่างประเทศ)และบริษัทต่างประเทศได้ขนส่งเครื่องจักรฯ ให้บริษัทฯ โดยทางเรือมายังท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2558 โดยตามใบขนสินค้าขาเข้าได้ระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่งและออกใบเสร็จรับเงิน (Invoice) ให้แก่บริษัทฯ บริษัทฯ ได้ว่าจ้างให้บริษัท C จำกัด (มหาชน) (บริษัท C) ซึ่งประกอบกิจการให้บริการโลจิสติกส์ในเขตปลอดอากร ดำเนินการขนส่งเครื่องจักรฯ จากท่าเรือฯ ไปพักไว้ในเขตปลอดอากรและขนส่งเครื่องจักรฯ ออกจากเขตปลอดอากรไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามใบขนสินค้าขาออก โดยบริษัทฯเป็นผู้ดำเนินพิธีการนำเข้าเครื่องจักรฯ ไปพักไว้ในเขตปลอดอากร และเป็นผู้ดำเนินพิธีการส่งออกเครื่องจักรฯออกจากเขตปลอดอากร ทั้งนี้ บริษัทฯ มิได้ตรวจรับเครื่องจักรฯ แต่อย่างใด
          บริษัทฯ ขอหารือว่า
         1. กรณีดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นขายสินค้านอกราชอาณาจักรหรือไม่ หากมิใช่เป็นการขาย
สินค้านอกราชอาณาจักร ถือเป็นการส่งออกหรือไม่
          2. กรณีการนำเข้าตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

แนววินิจฉัย           1. กรณีบริษัทฯ ได้ทำสัญญาขายเครื่องจักรฯ ให้กับบริษัท ข. โดยมีข้อตกลงให้บริษัทฯ ส่งมอบเครื่องจักรฯ ให้แก่บริษัท ข. ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและในการนี้บริษัทฯได้สั่งซื้อเครื่องจักรฯ จากบริษัทต่างประเทศ และบริษัทต่างประเทศได้ขนส่งเครื่องจักรฯ โดยทางเรือเพื่อนำมาส่งมอบให้แก่บริษัทฯในประเทศไทย โดยระบุชื่อบริษัทฯ เป็นผู้รับตราส่งในใบตราส่ง พร้อมกับออกใบเสร็จรับเงิน (Invoice) ให้แก่บริษัทฯ ด้วย ซึ่งบริษัทฯ ได้จ้างให้บริษัท C ดำเนินการขนเครื่องจักรฯ จากท่าเรือไปพักไว้ในเขตปลอดอากร จึงเป็นการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และต่อมาบริษัทฯ ได้ดำเนินพิธีการส่งออกเครื่องจักรฯ ดังกล่าวไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเพื่อส่งมอบและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บริษัท ข. กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการขายสินค้านอกราชอาณาจักร แต่เข้าลักษณะเป็นการส่งออกตามมาตรา 77/1 (14) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร
          2.กรณีบริษัทฯ ได้สั่งซื้อเครื่องจักรฯ จากต่างประเทศและนำเครื่องจักรฯ จากต่างประเทศเข้าไปในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1 (21) แห่งประมวลรัษฎากร หากเครื่องจักรฯ เป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40438

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020