เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/5572
วันที่: 28 สิงหาคม 2560
เรื่อง:อากรแสตมป์ กรณีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรเกินกำหนดเวลา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 113 (1) และมาตรา 117 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

          1. ธนาคารฯ ประกอบกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์ ธนาคารฯ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ แก่นาง ก ตามสัญญาลงวันที่ 16 เมษายน 2558 ข ตามสัญญาลงวันที่ 22 เมษายน 2558 และนาง ค ตามสัญญาลงวันที่ 29 เมษายน 2558
          2. ธนาคารฯ ยื่นคำร้องลงวันที่ 1 มิถุนายน 2558 ของดเงินเพิ่มค่าอากร เนื่องจากธนาคารฯมีหน้าที่ยื่นแบบขอเสียอากรเป็นตัวเงิน (แบบ อ.ส.4ข) ประจำงวดที่สองคือ ตั้งแต่วันที่ 16 ถึงวันที่ 30เมษายน 2558 และต้องชำระค่าอากรภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 แต่ธนาคารฯ ยื่นแบบฯ และชำระค่าอากรจำนวน ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเกินกำหนดเวลาตามกฎหมาย โดยธนาคารฯ ชี้แจงว่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 เป็นวันหยุดทำการและวันเปิดทำการของธนาคารฯ วันแรก คือ วันที่ 6 พฤษภาคม 2558 ธนาคารฯ มีลูกค้าไปชำระค่างวดเช่าซื้อเป็นจำนวนมาก และพนักงานธนาคารฯ ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการลูกค้า รวมทั้งมีหน้าที่ยื่นแบบฯ และชำระค่าอากรให้กรมสรรพากร หลงลืมไม่ไปยื่นแบบฯ และชำระค่าอากรให้ทันภายในกำหนดเวลาธนาคารฯ จึงต้องรับผิดเสียค่าปรับอาญาและเงินเพิ่มค่าอากรจำนวน ธนาคารฯ จึงยื่นคำร้องของดเงินเพิ่มค่าอากรสำหรับงวดดังกล่าว

แนววินิจฉัย           กรณีธนาคารฯ (ผู้ให้เช่า) ได้ทำสัญญาให้เช่าซื้อรถยนต์แก่นาง ก. ตามสัญญาลงวันที่ 16 เมษายน 2558 นาย ข. ตามสัญญาลงวันที่ 22เมษายน 2558 และนาง ค. ตามสัญญาลงวันที่ 29 เมษายน 2558 ซึ่งสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เข้าลักษณะแห่งตราสาร 3 เช่าซื้อทรัพย์สิน แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์ภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ตามข้อ 6(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) เรื่องกำหนดวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินแทนการปิดแสตมป์อากรสำหรับตราสารบางลักษณะ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 48)ฯ ลงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ธนาคารชำระอากรภายใน 15 วันนับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ คือ นับแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 จึงอนุมัติให้ธนาคารฯ เสียอากรเพียงจำนวนอากรตามอัตราในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มอากรและให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้วตามมาตรา 113 (1) และมาตรา 117 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 80/40453

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020