เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/8488
วันที่: 27 ธันวาคม 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินวิทยฐานะ และเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา
ข้อกฎหมาย: มาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

          1 นาง ว. ได้ค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,006 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย) และนางสาว พ. ได้ค้างชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นเงิน 12,000 บาท (ยังไม่รวมเงินเพิ่มตามกฎหมาย)
          2. เจ้าพนักงาน สท. ปราจีนบุรี ได้ดำเนินการเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรค้างตามระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการเร่งรัดจัดเก็บภาษีอากรค้าง พ.ศ. 2545 แต่นาง ว. และนางสาว พ. เพิกเฉยมิได้ดำเนินการชำระภาษีอากรค้างให้เสร็จสิ้นไป และจากการสอบสวนทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรดังกล่าว ปรากฏว่า นาง ว. และนางสาว พ. มีสิทธิเรียกร้องในเงินวิทยฐานะ จำนวน 5,600 บาทต่อเดือน เงินค่าตอบแทนรายเดือนเท่ากับเงินวิทยฐานะที่ได้รับ จำนวน 5,600 บาทต่อเดือน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,200 บาทต่อเดือน อยู่กับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี และเงินค่าหุ้นและเงินปันผลกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูปราจีนบุรี จำกัด
          3. สภ. 5 เห็นว่า
                  3.1 กรณีเงินวิทยฐานะ ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งมาตรา 3 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้เงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งไม่ถือเป็นเงินเดือน การที่พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดไว้เช่นนั้นเพื่อไม่ให้นำเงินวิทยฐานะมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเช่นเดียวกับเงินเดือน อีกทั้งเงินวิทยฐานะเป็นเงินที่หน่วยราชการได้จ่ายให้แก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นไปตามอัตราของแต่ละประเภท สายงาน และระดับตามบัญชีอัตราเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษากำหนด ซึ่งเงินดังกล่าวได้มีกำหนดจ่ายเป็นงวดแน่นอนเป็นประจำและจ่ายจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ดังนั้น เงินวิทยฐานะเข้าลักษณะเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 286 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับข้อ 8 (2) (ข) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
                  3.2 กรณีเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อ 5 วรรคสาม ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงการคลังฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 กำหนดให้ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาซึ่งได้รับเงินวิทยฐานะตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นรายเดือนในอัตราเท่ากับเงินวิทยฐานะที่ได้รับ เว้นแต่ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาซึ่งได้รับเงินวิทยฐานะชำนาญการ ดังนั้น เงินค่าตอบแทนดังกล่าวได้มีกำหนดจ่ายเป็นงวดแน่นอนเป็นประจำตามอัตราของแต่ละประเภท สายงาน และระดับตามระเบียบที่กระทรวงการคลังกำหนด อีกทั้งเงินค่าตอบแทนดังกล่าวได้จ่ายจากเงินงบประมาณประเภทเงินเดือน ดังนั้น เงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับเงินวิทยฐานะอันเข้าลักษณะเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 286 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับข้อ 8 (2) (ข) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556

แนววินิจฉัย           1. กรณีเงินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินวิทยฐานะตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แม้ว่ามาตรา 3 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 จะกำหนดไว้โดยชัดแจ้งให้เงินวิทยฐานะไม่ถือเป็นเงินเดือนก็ตาม แต่การกำหนดเช่นนี้ก็เนื่องจากไม่ให้นำเงินวิทยฐานะมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการเช่นเดียวกับเงินเดือนเท่านั้น ดังนั้น เงินวิทยฐานะที่หน่วยงานราชการจ่ายให้แก่บุคคลนั้นในขณะดำรงตำแหน่งเป็นจำนวนที่แน่นอนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่า เป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ตามมาตรา 286 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับข้อ 8 (2) (ข) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
          2. กรณีเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ตามข้อ 5 วรรคสาม ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการและลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกระทรวงการคลังฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2552 ได้กำหนดให้ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาซึ่งได้รับเงินวิทยฐานะตามกฎหมายว่าด้วยเงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือนในอัตราเท่ากับเงินวิทยฐานะที่ได้รับ เว้นแต่ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาซึ่งได้รับเงินวิทยฐานะชำนาญการ ดังนั้น เงินค่าตอบแทนดังกล่าวที่ทางราชการจ่ายให้เป็นพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาจากงบประมาณรายจ่ายให้แก่ข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษา ถือได้ว่า เป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการครูหรือบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่อยู่ใน ความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 286 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับข้อ 8 (2) (ข) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการอายัดทรัพย์สินตามความในมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
เลขตู้: 80/40528

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020