เมนูปิด
เลขที่หนังสือ : กค 0702/8355
วันที่: 22 ธันวาคม 2560
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการออกค่าภาษีโรงเรือนแทนผู้ให้เช่า
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ

          ธนาคารฯ ทำสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์จากผู้ให้เช่าทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยในสัญญาเช่าจะกำหนดให้ธนาคารฯ ในฐานะผู้เช่า เป็นผู้รับภาระค่าภาษีโรงเรือน ซึ่งจะแบ่งการชำระเป็น 2 วิธี ได้แก่ กรณีธนาคารฯ ชำระเงินให้กับผู้ให้เช่า โดยผู้ให้เช่าจะชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ทางราชการก่อน และมาเรียกเก็บจากธนาคารฯ ในภายหลัง และกรณีธนาคารฯ ชำระค่าภาษีโรงเรือนให้แก่ส่วนราชการที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีดังกล่าวโดยตรง ธนาคารฯ จึงหารือว่า กรณีธนาคารฯ ในฐานะผู้เช่า จ่ายค่าภาษีโรงเรือนตามที่ตกลงกับผู้ให้เช่าในสัญญาเช่าให้แก่ผู้ให้เช่า หรือให้แก่ส่วนราชการที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีโรงเรือน ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าภาษีโรงเรือนดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย           กรณีสัญญาเช่ากำหนดให้ธนาคารฯ ในฐานะผู้เช่า เป็นผู้รับภาระค่าภาษีโรงเรือนแทนผู้ให้เช่า โดยชำระเงินให้แก่ผู้ให้เช่าหรือชำระเงินให้แก่ส่วนราชการโดยตรง เงินค่าภาษีโรงเรือนที่ผู้เช่าออกแทนให้ดังกล่าว ถือเป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ให้เช่าต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี เมื่อธนาคารฯ จ่ายเงินค่าภาษีโรงเรือนแทนผู้ให้เช่า ธนาคารฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
เลขตู้: 80/40517

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020