เลขที่หนังสือ | : กค 0702/7668 | วันที่ | : 28 กันยายน 2561 | เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการรับรู้รายได้สำหรับกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ | ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 65 ทวิ 11/8 พระราชกฤษฎีกา 362 | ข้อหารือ |
1. บริษัทฯ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ภายใต้พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 มีวัตถุประสงค์เพื่อการรับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินต่าง ๆ มาบริหารจัดการ ปัจจุบันมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) เป็นผู้ถือหุ้นในอัตราร้อยละ 99.99 บริษัทฯ จึงมี FIDF เป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 95 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง จึงได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจาก FIDF มีความประสงค์จะนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะเสนอขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (Initial public offering IPO) ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF ลดลงต่ำกว่าอัตราร้อยละ 95 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง ทำให้บริษัทฯ จะไม่ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกต่อไป
บริษัทฯ จึงหารือว่า วันที่สัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF ลดลงเหลือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 95 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด เป็นวันที่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 บริษัทฯ จะต้องนำกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้นภาษีดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ 2. ปัจจุบันบริษัทฯ มี FIDF ถือหุ้นเกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง จึงได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่บริษัทฯ กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือสงสัยจะสูญ (เงินสำรองหนี้สูญ) ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด และเมื่อเงินสำรองหนี้สูญลดลง บริษัทฯจะต้องหักรายจ่ายอื่นลดลงเท่ากับเงินสำรองหนี้สูญที่ลดลงดังกล่าวไว้ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่บริษัทฯ ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจึงเท่ากับเป็นการยกเว้นรายได้เท่ากับจำนวนเงินสำรองหนี้สูญ จึงถือเสมือนว่าไม่เคยถือเป็นรายได้ทางภาษีตลอดระยะเวลาที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อบริษัทฯ จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และสัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF คงเหลือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวอีกต่อไป บริษัทฯ จึงหารือ ดังนี้ 2.1 บริษัทฯ ควรนำเงินสำรองหนี้สูญที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ณ วันสุดท้ายก่อนที่บริษัทฯ จะสิ้นสุดสิทธิการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยยังคงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 ได้หรือไม่ 2.2 ภายหลังการสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล หากเงินสำรองหนี้สูญลดลงในทางบัญชี เนื่องจากบริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงเงินสำรองหนี้สูญ และได้หักรายจ่ายอื่นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองหนี้สูญที่ได้ปรับปรุงลดลงทางภาษีเงินได้นิติบุคคลในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิก่อนวันสิ้นสุดการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว บริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักรายจ่ายอื่นลดลงตามจำนวนของเงินสำรองหนี้สูญที่ลดลงทางบัญชีอีก ในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิทางภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เงินสำรองหนี้สูญลดลงในทางบัญชีอีกแต่อย่างใด ใช่หรือไม่ 2.3 ในกรณีที่ FIDF ลดสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทฯ ลงเหลือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงของบริษัทฯ แต่หากรวมสัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF เข้ากับการถือหุ้นของสถาบันการเงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ยังคงมีสัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF และสถาบันการเงินดังกล่าวรวมกันแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง บริษัทฯ ยังคงมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 ใช่หรือไม่  3. ประเด็นการรับรู้รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั่วไปบริษัทฯ รับซื้อหรือรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ รวมทั้งหลักประกัน จากสถาบันการเงินมาบริหารจัดการ (ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการบังคับหลักประกัน หรือจำหน่ายจ่ายโอน) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loans: NPLs) ของระบบสถาบันการเงิน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้บางส่วน (Collection Period) บริษัทฯ จะรับรู้รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยใช้วิธีการเดียวกันทั้งในทางบัญชีและภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้ 3.1 วิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Yield Rate) สำหรับกรณีรับชำระหนี้เป็นเงินสดตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการคำนวณโดยหาอัตราผลตอบแทนที่ทำให้ประมาณการของกระแสเงินสดที่บริษัทฯ จะได้รับทั้งหมดในอนาคตคิดลดมาในเวลาปัจจุบันเท่ากับราคาซื้อสุทธิ (เงินทุน) อัตราผลตอบแทนที่คำนวณได้ถือเป็นอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Actual Interest Rate of Return: Actual IRR) สำหรับลูกหนี้แต่ละรายที่รับซื้อมา และจะนำมาใช้ในการคำนวณหารายได้แทนอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญา (Fixed IRR) ผลรวมของรายได้ที่คำนวณได้ตามวิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Yield Rate) จะเท่ากับส่วนต่างระหว่างเงินที่ได้รับทั้งหมดตามสัญญากับราคาซื้อหนี้สุทธิ ซึ่งจะถูกนำไปถือเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 3.2 วิธีรับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน เมื่อได้รับชำระเงินเกินกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น 9 (Cost Recovery Method) สำหรับกรณีการรับชำระหนี้เป็นเงินสดหรือทรัพย์โดยมิได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และการรับชำระหนี้เป็นทรัพย์ตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นการตั้งพักส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้กับราคาซื้อหนี้สุทธิไว้ โดยจะรับรู้ส่วนต่างเป็นรายได้เพื่อนำไปคำนวณกำไรสุทธิในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เมื่อผู้รับโอนสามารถเรียกเก็บหนี้ได้เกินกว่าราคาซื้อสุทธิ เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่ได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ จึงยังไม่ได้มีการตกลงในอัตราดอกเบี้ยใหม่แต่อย่างใด ผลกำไรที่แท้จริงที่บริษัทฯ จะได้รับคือ ส่วนต่างระหว่างหนี้รับชำระกับราคาที่ซื้อมาของลูกหนี้แต่ละราย แต่หากบริษัทฯ เป็นผู้ซื้อทรัพย์หลักประกันจากการขายทอดตลาดเอง บริษัทฯ ก็จะยังไม่รับรู้ส่วนต่างเป็นกำไรแต่อย่างใดจนกว่าจะบริหารทรัพย์หลักประกันนั้นและได้รับชำระราคาเป็นเงินสด ไม่ว่าจะเป็นการขายสดหรือขายผ่อน 4. ประเด็นการรับรู้รายได้จากการบังคับหลักประกัน ในกรณีที่ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้ประเภทนี้ส่วนใหญ่ไม่ชำระเป็นเงินสด แต่จะเป็นการบังคับหลักประกันขายทอดตลาดตามคำพิพากษา บริษัทฯ เข้าใจว่า กรณีมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับชำระทั้งหมดมีจำนวนน้อยกว่าต้นทุนของลูกหนี้ที่ซื้อมา บริษัทฯ สามารถรับรู้ผลต่างเป็นผลเสียหายจากการลงทุนทันทีตามหลักเกณฑ์ของการจำหน่ายหนี้สูญตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ บังคับคดี) หากต่อมา บริษัทฯ ได้รับชำระหนี้เพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้บริษัทฯ นำเงินทั้งหมดที่ได้รับมาลงเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 5. ประเด็นการรับรู้รายได้จากการขายผ่อนชำระสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Non - Performing Assets)ซึ่งได้กรรมสิทธิ์มาจากการบังคับคดีจากสินทรัพย์ของลูกหนี้ โดยเป็นสัญญาขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนและมีอายุสัญญาเกินหนึ่งปี ไม่ว่าจะทำสัญญาดังกล่าวกับลูกหนี้รายเดิมหรือบุคคลภายนอก และไม่ว่าสินทรัพย์ดังกล่าวจะได้มาจากลูกหนี้หรือซื้อมาจากเจ้าหนี้รายอื่น บริษัทฯ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ของกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ซึ่งมุ่งเน้นการปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระให้เหมาะสมกับความสามารถและความเพียงพอของกระแสเงินสดของลูกหนี้ บริษัทฯ มิได้มุ่งประสงค์จะยึดหลักประกันเป็นกรรมสิทธิ์ การขายผ่อนชำระทรัพย์สินด้อยคุณภาพ จึงยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตงานของการบริหารสินทรัพย์ ดังนั้น บริษัทฯ จึงเข้าใจว่า ยังคงสามารถใช้เกณฑ์เงินสด ในการคำนวณรายได้ซึ่งเกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3.11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 บริษัทฯ จึงเห็นว่าวิธีการรับรู้รายได้ทางบัญชีมีความเหมาะสมต่อลักษณะของธุรกิจและเป็นที่ยอมรับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเป็นไปตามการรับรู้รายได้ ตามเกณฑ์สิทธิตามบทบัญญัติของมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้ 5.1 วิธีอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Yield Rate) บริษัทฯ ควรทยอยรับรู้ดอกเบี้ยเป็นรายได้ตามอัตราผลตอบแทนที่แท้จริง (Yield Rate) ทั้งในส่วนของสัญญากับลูกหนี้รายเดิมหรือบุคคลภายนอก มิใช่อัตราที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายทรัพย์สิน 5.2 วิธีทยอยรับรู้กำไรเป็นรายได้ตามเงินที่ได้รับชำระ เมื่อได้รับชำระเงินเกินกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น (Cost Recovery Method) บริษัทฯ ควรจะเริ่มทยอยรับรู้กำไรขั้นต้นลูกหนี้ผ่อนชำระรอตัดบัญชีเป็นรายได้จากการขายผ่อนชำระเมื่อยอดรวมของเงินสดรับชำระจากลูกหนี้สูงกว่าต้นทุนสินทรัพย์รอการขาย (Cost recovery) มิใช่ทยอยรับรู้เป็นรายได้ตามเงินที่ได้รับชำระในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่มีการขายผ่อนชำระ บริษัทฯ เข้าใจว่าวิธีการรับรู้รายได้ตาม 3. 5. เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร จึงหารือว่า ความเห็นข้างต้นถูกต้องหรือไม่ 6. บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ จะต้องนำดอกเบี้ยค้างชำระที่ยังมิได้มีการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะไปชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำรายได้ที่เฉลี่ยได้จากการนำเงินที่ได้รับชำระจากลูกหนี้คงค้างแต่ละรายไปเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่างส่วนต่างยอดลูกหนี้คงค้างกับราคาซื้อหนี้สุทธิ ส่วนด้วยยอดลูกหนี้คงค้าง โดยเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามมูลหนี้เดิมกับราคามูลหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ถือเป็นรายรับดอกเบี้ยที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในแต่ละเดือนภาษี ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ 7. ในการคำนวณหาสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยที่ค้างชำระกับราคามูลหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย หากบริษัทฯได้ตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทฯ สามารถนำมูลค่าดอกเบี้ยที่ปลดให้ไปหักออกจากดอกเบี้ยค้างชำระกับราคามูลหนี้ ในการคำนวณหาสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยที่ค้างชำระกับราคามูลหนี้ ไม่ว่าจะปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้โดยทันทีหรือพักแขวนไว้ และจะปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้เมื่อได้ชำระหนี้ครบถ้วนตามเงื่อนไขการชำระหนี้ของสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากเมื่อปลดหนี้แล้ว บริษัทฯ จะไม่ได้รับชำระรายรับดอกเบี้ยในส่วนที่ได้ปลดหนี้นั้น ความเข้าใจของบริษัทฯ ในการคำนวณสัดส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระกับราคามูลหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ถูกต้องหรือไม่ | แนววินิจฉัย |
1. กรณีตามข้อ 1. หากบริษัทฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF ลดลงเหลือน้อยกว่าอัตราร้อยละ 95 ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด ทำให้บริษัทฯ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 จึงต้องนำกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นหลังจากวันที่สิ้นสุดสิทธิการยกเว้นภาษีมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดสิทธินั้น ซึ่งในการคำนวณกำไรสุทธิต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตามข้อ 2. บริษัทฯ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 จะต้องเป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 77) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การถือหุ้นโดยอ้อมในบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ ลงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2543 โดย FIDF ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นถือหุ้นในบริษัทฯ เกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง หรือ FIDF ให้บุคคลอื่นหรือนิติบุคคลอื่นถือหุ้นในบริษัทฯ ไว้แทนตน ซึ่งเมื่อรวมกับการถือหุ้นทางตรงแล้วเกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง เมื่อบริษัทฯ มีสัดส่วนการถือหุ้นโดย FIDF เกินกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง บริษัทฯ จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่บริษัทฯ กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด เฉพาะส่วนที่ตั้งเพิ่มขึ้นจากเงินสำรองประเภทดังกล่าวที่ปรากฏในงบดุลของรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 362) พ.ศ. 2542 หากสัดส่วนการถือหุ้นของ FIDF ในบริษัทฯ ลดลงน้อยกว่าอัตราร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง บริษัทฯ จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินสำรองดังกล่าว และหากเงินสำรองที่ได้กันไว้นั้นมีจำนวนลดลงเนื่องจากบริษัทฯ ได้รับชำระหนี้ บริษัทฯ จะต้องหักรายจ่ายอื่นลดลงเป็นจำนวนเท่ากับเงินสำรองที่ตั้งลดลงในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย 3. กรณีตามข้อ 3. 4. และ 5. การคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทฯ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 ให้ใช้เกณฑ์สิทธิโดยให้นำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้จะยังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่รายได้ซึ่งเกิดจากการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับซื้อหรือรับโอนจากสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ บริษัทฯ จะนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 3.11 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทฯ จะต้องดำเนินการและมีหลักฐานประกอบการจำหน่ายหนี้สูญให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ แต่ถ้าได้รับชำระหนี้ในรอบบัญชีใด ให้นำมาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น 4. กรณีตามข้อ 6. และ 7. การรับรู้รายได้จากการได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คงค้างเพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ต้องนำเงินที่ได้รับชำระจากลูกหนี้คงค้างในแต่ละรายไปเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่างส่วนต่างระหว่างราคามูลหนี้ (ยอดลูกหนี้คงค้าง) กับราคาซื้อหนี้สุทธิ ส่วนด้วยยอดลูกหนี้คงค้าง ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี ประเด็นภาษีธุรกิจเฉพาะ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องแล้ว โดยบริษัทฯ ต้องนำดอกเบี้ยค้างชำระดังกล่าวไปเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/8 แห่งประมวลรัษฎากร โดยนำรายได้ที่เฉลี่ยได้ตามที่กล่าวไปข้างต้น ไปเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยที่ค้างชำระกับราคามูลหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ถือเป็นรายรับดอกเบี้ยที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในแต่ละเดือนภาษี กรณีบริษัทฯ ทำการประนอมหนี้โดยปลดหนี้ให้โดยทันทีเฉพาะดอกเบี้ยคงค้าง ให้บริษัทฯ ใช้วิธีเฉลี่ยตามสัดส่วนระหว่างดอกเบี้ยที่ค้างชำระกับราคามูลหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายก่อนมีการปลดหนี้นั้นในการคำนวณรายรับดอกเบี้ยที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะของการชำระหนี้แต่ละราย ส่วนกรณีพักแขวนดอกเบี้ย ให้บริษัทฯ คำนวณรายรับดอกเบี้ยเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามวิธีที่ได้กล่าวไปแล้ว เสมือนไม่มีการพักแขวนดอกเบี้ยนั้นไว้ | เลขตู้ | : 81/40813 |