เมนูปิด
เลขที่หนังสือ: กค 0702/พ./7583
วันที่: 27 กันยายน 2561
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย : มาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ           1. ธนาคารฯ ได้เช่าพื้นที่อาคาร พ. กับกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ (กองทุนฯ) ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยสามสัญญา คือ สัญญาเช่าพื้นที่ สัญญาจ้างบริการ และสัญญาเช่าอุปกรณ์
          2. กองทุนฯ ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 4 (10) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 401) พ.ศ. 2545
          3. ต่อมามาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 608) พ.ศ. 2559 ได้กำหนดให้ยกเลิก (10) ของมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 ประกอบกับคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ลงวันที่ 28 มีนาคม 2560 ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มของกองทุนรวมดังกล่าวข้างต้น
          4. กองทุนฯ ได้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามสัญญาจ้างบริการ และสัญญาเช่าอุปกรณ์ จากธนาคารฯ ซึ่ง สัญญาเดิมไม่ได้มีการกล่าวถึงภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับธนาคารฯ เป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
แนววินิจฉัย           กรณีธนาคารฯ ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน มีรายรับจากดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการซื้อหรือขาย หรือที่ได้จากตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ และกำไรก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จากการแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ หรือ การส่งเงินไปต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นรายรับที่ธนาคารได้รับหรือพึงได้รับจากการประกอบกิจการธนาคารรายรับดังกล่าวอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5(1) และมาตรา 91/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร
          อนึ่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้บัญญัติยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่การประกอบกิจการขายสินค้าและการให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินซึ่งได้รับความเสียหายจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งในปัจจุบันการดำเนินการได้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์แล้ว จึงกำหนดให้มีการยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการขายสินค้าและ การให้บริการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว อย่างไรก็ดี กรณีสัญญาเช่าพื้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับกรณีสัญญาจ้างบริการ และสัญญาเช่าอุปกรณ์เป็นการให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หากกองทุนฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กองทุนฯ มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการ เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ธนาคารฯ ผู้รับบริการจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีซื้อที่ธนาคารฯ ได้จ่ายไปเนื่องจากการรับบริการดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร หากธนาคารฯ ประกอบกิจการ ซึ่งมีทั้งกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และธนาคารฯ ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้อที่เกิดจากสินค้าหรือบริการดังกล่าวเป็นภาษีซื้อของกิจการประเภทใด ให้เฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของแต่ละกิจการ โดยธนาคารฯ มีสิทธินำภาษีซื้อที่เฉลี่ยได้สำหรับกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายได้ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 81/40815

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020